ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ย.ลดต่อเนื่องเดือนที่ 7 ภาคเอกชนกังวลสงครามการค้า-ปัญหาภัยธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 15, 2019 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI เดือน ก.ย.62 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 46.2 ลดลงจากเดือน ส.ค.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.5 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือน มี.ค.62

ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ การส่งออกของไทยเดือน ส.ค. 62 ลดลง 4.0%, ปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และปัญหา brexit ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย, ปัญหาขัดแย้งของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกง, สถานการณ์ภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคใต้ และกรุงเทพฯ และปริมณฑล

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ "ชิม ช้อป ใช้" ได้รับการตอบสนองอย่างมากจากภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% ต่อปี และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 30.768 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ส.ค.62 เป็น 30.570 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ย.62 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า

ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาถึงภาครัฐ ได้แก่ 1.ยกระดับสินค้าเกษตรให้เพิ่มสูงขึ้น และรักษาเสถียรภาพของระดับราคาพืชผลทางการเกษตรให้อยู่ในระดับสูง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 2.ขอให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่ได้อนุมัติไปแล้ว 3.มีแผนเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง 4.พัฒนาศักยภาพการผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตร หรือสินค้าจากชุมชนให้มีมูลค่า เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น 5.เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และโลจิสติกส์ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกภูมิภาค

*ดัชนีรายภาค

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 47.2 ลดลงจาก 47.3 ในเดือนส.ค. โดยปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น 1.สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ 2. รายได้ของประชาชนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง 3. การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนชะลอตัว 4. สถานการณ์ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ 1.การเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้สิทธิตามมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 2. การตั้งธุรกิจใหม่ เริ่มขยายตัวจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะในธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจขนส่งสินค้า/คน

ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ 1.ส่งเสริมเงินลงทุนสำหรับกิจการที่มีความพร้อมในการขยายต่อยอดธุรกิจ 2. การผลักดันและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคกลาง เดือนก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 45.9 ลดลงจาก 46.1 ในเดือนส.ค. โดยมีปัจจัยลบสำคัญจาก 1.สถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ ทำให้พืชผลเกษตรได้รับความเสียหาย 2.การจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ไม่คึกคัก 3.สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยบวก เช่น 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 2.ราคาเฉลี่ยสับปะรดในปี 62 เพิ่มขึ้นถึง 79% และ 3.ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นรับช่วงเทศกาลกินเจ ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ, พัฒนาอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชน และสร้างระดับรายได้ภาคเกษตรให้เติบโต

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคตะวันออก เดือนก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 50.6 ลดลงจาก 50.8 ในเดือนส.ค. โดยมีปัจจัยลบจาก 1.สถานการณ์เศรษฐกิจบางจังหวัดมีสัญญาณชะลอตัวลง 2.การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก 3.การท่องเที่ยวซบเซา นักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ลดลง 4.ค่าครองชีพสูงโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 2.การเร่งดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ ยกระดับคุณภาพแรงงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม, สร้างระดับรายได้คนในพื้นที่ให้เท่าเทียม และสร้างความเสมอภาค เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 45.2 ลดลงจากระดับ 45.5 ในเดือนส.ค. โดยมีปัจจัยลบจาก 1. เหตุอุทกภัยจากพายุโพดุล และคาจิกิ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน 2.ผู้ประกอบการคาดว่าการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวจากผลของสงครามการค้า 3.พืชผลทางการเกษตรเสียหายจากน้ำท่วม 4.ภาระหนี้สินครัวเรือน 5.รายได้และการบริโภคชะลอตัว ส่วนปัจจัยบวก คือ 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล 2. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดหางบประมาณเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวบ้านจากเหตุอุทกภัย, หามาตรการปรับลดภาษีในการดำเนินชีวิตของประชาชน และสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงแหล่งทุนให้แก่ภาคธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคเหนือ เดือนก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 46.3 ลดลงจากระดับ 46.6 ในเดือนส.ค. โดยมีปัจจัยลบจาก 1.สถานการณ์น้ำท่วมในบางจังหวัด จากผลของพายุโพดุลและคาจิกิ 2.การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนชะลอตัวลง 3.ภาระหนี้สินปรับเพิ่มขึ้น 4.ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การสนับสนุนของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในด้านการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้ขอให้รัฐบาลช่วยพัฒนาศักยภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าการเกษตร, รักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินไป และบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในการเกษตร

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคใต้ เดือนก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 43.5 ลดลจากระดับ 43.7 ในเดือนส.ค. โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานกระทบต่อสุขภาพประชาชน 2.การค้าการชายแดนไทย-มาเลเซียมีมูลค่าลดลง 3.ความกังวลต่อสงครามการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น 4.การจับจ่ายใช้สอยที่ยังชะลอตัว ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ 1.การเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 2.เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วย คือ พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ และการฝึกอาชีพพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย และเตรียมความพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ