นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ประเมินว่าในปี 63 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อาจปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ เนื่องจากความขัดแย้งในกลุ่มโอเปก (OPEC) เริ่มมีสัญญาณรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบฐานะการเงินที่ย่ำแย่ของประเทศสมาชิก ทำให้คาดว่ามีโอกาสน้อยมากที่การลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมของกลุ่ม OPEC จะทำได้สำเร็จ หากเป็นเช่นนั้นตลาดน้ำมันโลกก็จะเข้าสู่ภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupplied) ในที่สุด
"แม้เหตุโจมตีแหล่งน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย เมื่อกลางเดือน ก.ย. จะกระทบต่อกำลังการผลิตของซาอุฯ อย่างรุนแรง และทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันรวมของกลุ่ม OPEC ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางซาอุฯ สามารถฟื้นฟูกำลังการผลิตกลับมาได้แล้วทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังถูกโจมตี ซึ่งน่าจะทำให้กำลังการผลิตของซาอุฯ กลับมาสู่ระดับปกติได้ในเดือน ต.ค. และ หากไม่นับการลดลงของซาอุฯ ปริมาณการผลิตของสมาชิก OPEC อื่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอิรัก ไนจีเรียและเอกวาดอร์ ซึ่งผลิตเกินกว่าโควต้ามาโดยตลอด รวมไปถึงรัสเซียซึ่งแม้จะผลิตต่ำกว่าโควต้า แต่ก็ผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงการขาดวินัยในการปฏิบัติตามข้อตกลงลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC+" นายคมศรกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีข่าวตามมาอีกว่า ประเทศเอกวาดอร์ประกาศจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก OPEC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นี้ หลังประสบปัญหาทางด้านการเงินภายในประเทศ และต้องการที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อหารายได้เข้าประเทศ แม้เอกวาดอร์จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันขนาดเล็ก ซึ่งผลิตน้ำมันดิบเพียง 5.4 แสนบาร์เรลต่อวัน และหากเทียบกับปริมาณการผลิตสูงสุดในปี 57 เอกวาดอร์จะมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นได้อีกเพียง 2.4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่ออุปทานโลกมากนัก แต่การถอนตัวของเอกวาดอร์ ก็ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งในกลุ่ม OPEC ที่คุกรุ่นมานาน ท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันตกต่ำเรื้อรังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เอกวาดอร์ไม่ใช่ประเทศแรกที่ถอนตัวจากกลุ่ม OPEC โดยก่อนหน้านี้ กาตาร์ และอินโดนีเซีย ได้ประกาศถอนตัวมาแล้วเมื่อต้นปี 62 และ 60 ตามลำดับ โดยการ์ต้าอ้างถึงความไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC ในการถอนตัว ในขณะที่อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ซึ่งการพยามควบคุมการผลิตเพื่อดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นนั้นส่งผลเสียต่อประเทศมากกว่าผลดี
อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า ความท้าทายของกลุ่ม OPEC นั้นไม่ใช่แค่เพียงการพยามควบคุมปริมาณการผลิตให้อยู่ภายใต้โควต้าที่ตกลงกันไว้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพยามลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมอีกเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอุปทานล้นตลาดในปีหน้า หากอ้างอิงตัวเลขจากรายงาน Monthly Oil Market Report ของ OPEC ฉบับเดือน ต.ค.62 ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันดิบของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 54 ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอลง) ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากนอกกลุ่ม OPEC จะเติบโตขึ้น 2.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน หมายความว่า หาก OPEC ยังผลิตน้ำมันเท่าเดิม ตลาดน้ำมันโลกจะเข้าสู่ภาวะ Oversupplied ในปี 63 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้