นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานกดปุ่มคิกออฟจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้กับชาวนาทั้งประเทศ ที่จ.พระนครศรีอยุธยาว่า เป็นการจ่ายส่วนต่างให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าวรอบแรก ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 16 ต.ค.62 รวม 349,000 ครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 9,400 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการดำเนินโครงการ เพราะใช้เวลาเพียง 90 วันนับตั้งแต่รัฐบาลแถลงโครงการประกันรายได้ต่อรัฐบาลจนถึงวันนี้ ก็สามารถจ่ายเงินส่วนต่างรอบแรกได้แล้ว
"จากนี้ไปจะมีการโอนเงินทุก 15 วัน งวดนี้ถือว่าเป็นงวดแรก โดยงวดถัดไปเป็นวันที่ 1 พ.ย.62 และวันที่ 15 พ.ย.62 ถือว่าดำเนินการครบฤดูการผลิตปีนี้แล้ว โดยงวดนี้ เงินส่วนต่างที่โอนให้เกษตรกรงสูงสุดได้ถึงครัวเรือนละ 74,000 บาท แต่จะลดหลั่นกันไปตามข้อเท็จจริง คุณภาพข้าว และปริมาณผลผลิตของชาวนาแต่ละครัวเรือน" นายจุรินทร์ ระบุ
สำหรับการประกันรายได้ข้าว ถือเป็นสินค้าชนิดที่ 2 ที่รัฐบาลได้ประกันรายได้ จากสินค้าแรกคือ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้โอนเงินให้เกษตรกรแล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และจะโอนไปเรื่อยๆ ทุกๆ 45 วัน จนครบทั้งหมด 8 งวดในแต่ละปี
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้มีมติเห็นชอบกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง และการชดเชยส่วนต่างราคา ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 62/63 รอบที่ 1 งวดที่ 1 กำหนดราคากลางอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 16,723.09 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 15,651.05 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,530.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,216.55 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 18,926.86 บาท
ทั้งนี้ จากราคาอ้างอิงดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างข้าวเปลือก 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,469.64 บาท และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท ส่วนอีก 3 ชนิด ราคาตลาดสูงกว่าราคาอ้างอิง จึงไม่ต้องจ่ายส่วนต่างราคาให้เกษตร โดยเกษตรกรสามารถนำข้าวเปลือกไปขายในตลาดได้เอง