นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการยาสูบ โดยเฉพาะการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% ในวันที่ 1 ต.ค.63 เพราะจะทำให้ราคาบุหรี่ที่ปัจจุบันขายอยู่ซองละ 60 บาท เพิ่มขึ้นเป็นซองละ 90-100 บาท ซึ่งจะทำให้ยอดขายบุหรี่น้อยลง และมีผลต่อการดำเนินการงานของ ยสท.
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ขยายเวลาการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ตามมูลค่าจาก 20% เป็น 40% จากวันที่ 1 ต.ค.62 เป็นวันที่ 1 ต.ค.63 เนื่องจาก ยสท.ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงจำนวนมาก จนต้องปรับลดปริมาณรับซื้อใบยาสูบจากชาวไร่ ส่งผลให้ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อน และส่งหนังสือร้องเรียนกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อขอให้ยกเลิกการขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปก่อน
"หากปีหน้าจะปรับขึ้นภาษีบุหรี่ทันทีจาก 20% เป็น 40% ยสท. บอกว่าคงไม่ไหว ซึ่งกรมสรรพสามิตจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาข้อสรุปก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบว่าจะเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ต่อไปอีกหรือไม่ หรือจะให้ปรับขึ้นอัตราภาษี 5% ทุก 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการบุหรี่ได้มีเวลาปรับตัว" นายณัฐกร กล่าว
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ภาษีสรรพสามิตสำหรับยาเส้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกและผลิตยาเส้น ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราภาษียาเส้น เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 จากอัตราเดิม 0.005 บาท/กรัม เป็นอัตรา 0.10 บาท/กรัม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ปรับลดอัตราภาษีตามปริมาณสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก หั่น และจำหน่าย และผู้ผลิตรายย่อยที่มีปริมาณการผลิตเฉลี่ยไม่เกิน 12,000 กิโลกรัม/ปี ให้เสียภาษีในอัตรา 0.025 บาท/กรัม สำหรับจำนวนยาเส้นที่เกิน 12,000 กิโลกรัม/ปี ให้เสียภาษีในอัตรา 0.10 บาท/กรัม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวกำหนดให้มีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ถึง 31 ธ.ค.63 โดยหากพ้นกำหนดในช่วงเวลาดังกล่าวต้องเสียภาษีในอัตรา 0.10 บาท/กรัม
โดยจากฐานข้อมูลการชำระภาษียาเส้น ปีงบประมาณ 2562 พบว่า จากผู้ผลิตยาเส้นที่เป็นเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย ที่ผลิตได้เกิน 12,000 กิโลกรัม/ปี จำนวนเพียง 15 ราย จากทั้งหมด 10,450 ราย โดยทั้ง 15 รายเป็นผู้ผลิตที่อยู่ในจังหวัดหนองคาย เพชรบูรณ์ และชัยภูมิ
"การลดอัตราภาษีสำหรับกรณีดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูก และผลิตยาเส้น รวมถึงผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษี ให้สามารถปรับตัวรองรับกับนโยบายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขในการลดการบริโภคยาสูบและยาเส้นในอนาคต" นายณัฐกร กล่าว
2.ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับแก้ไขการได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตรา 0% ให้รวมถึงผู้ค้าคนกลาง เพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ
3. กรมสรรพสามิต ได้มีการประกาศเรื่อง ขยายกำหนดเวลาในการทำบัญชีและงบเดือน และการยื่นงบเดือนแก่ผู้ประกอบการยาสูบประเภทยาเส้นที่ปลูกและหั่นเอง เพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบซึ่งเสียภาษีในอัตรา 0% ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของเกษตรกร และเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรรายย่อย
นายณัฐกร กล่าวอีกว่า การขยายเวลาช่วยเกษตรกรผู้ประกอบการยาเส้นออกไป 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายเวลาการขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ทั้งนี้หากจะมีการขยายเวลาการขึ้นภาษีบุหรี่ออกไปอีก เป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายจะเห็นชอบต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้บ้าง โดยหลังจากกำหนดระยะเวลา 1 ปีแล้ว จะมาพิจารณาอีกครั้งว่าควรจะปรับลดในอัตรานี้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะดูจากความพร้อมของเกษตรกร และความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขด้วย
นายณัฐกร ยอมรับว่า การปรับลดภาษียาเส้นทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี จากก่อนหน้านี้ที่จัดเก็บได้ปีละ 2,000 ล้านบาท จะเหลือเพียง 1,400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งกรมฯ ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยรายได้เป็นหลัก แต่จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรก่อน