นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน (บอร์ดอีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตามที่คณะอนุกรรมการบริหารที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังเป็นประธานเสนอ
โดยแผนการส่งมอบพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1.สถานีพญาไท - สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่แอร์พอร์ตลิงค์เดิม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีหลังจากที่มีการลงนาม
2.สถานีสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน แต่สามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ปีหลังลงนามในสัญญา
และ 3.สถานีพญาไท - ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม
ทั้งนี้หากดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เฉพาะสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะสามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง ที่มีการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภคจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วง 2567-2568
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดต่อไป
นายคณิศ กล่าวว่า หากการดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนเร่งรัดดังกล่าว ก็ยังสามารถขยายเวลาต่อไปได้ โดยไม่มีการกำหนดให้ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับภาคเอกชน และเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องในภายหลัง ส่วนตัวเชื่อว่าภาคเอกชนที่มาประมูลงานก็ได้อ่านเงื่อนไขตามทีโออาร์ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าได้มีการบวกความเสี่ยงต่างๆ ลงไปในต้นทุนสุทธิก่อนที่จะกำหนดราคาประมูล ดังนั้นภาคเอกชนย่อมรู้อยู่แล้วว่าต้องมีความเสี่ยงอะไรบ้าง
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องรับผิดชอบโครงการ ตราบใดที่โครงการยังเป็นไปตามเงื่อนไขการร่างข้อเสนอ หรือ RFP รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมกับภาคเอกชนอย่างแน่นอนในวันที่ 25 ตุลาคมนี้
ทั้งนี้ หากไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกรอบระยะเวลาที่มีการเร่งรัดใหม่จะทำให้ปัญหาหรือไม่นั้น นายวรวุฒิ ยืนยันว่า ถ้าผ่านไปถึงเวลานั้น รฟท.ทำอะไรไม่ได้เลย ก็คงต้องยกเลิกโครงการ เพราะเท่ากับว่าเราไม่ได้ทำงาน แต่ที่ผ่านมาเรามีแผนปฏิบัติงานมาโดยตลอด จึงขอเวลาทำงานก่อน และเชื่อว่าคนที่ประมูลงานมาก็อยากทำงานเช่นกัน ดังนั้นคงไม่มีใครอยากประมูลงานเพื่อมายกเลิกสัญญาในภายหลัง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พร้อมกับปรับเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งรัฐและเอกชน โดยแต่ละหน่วยงานต้องเข้ามาร่วมทำงาน เพื่อย้ายสาธารณูปโภคที่อยู่ในส่วนรับผิดชอบออกจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยฝ่ายรัฐมีความพร้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับว่าภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนให้การเดินหน้าโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ใช่ให้ฝ่ายเอกชนออกแรงเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าการทำงานทั้งรัฐและเอกชนมีความเข้าใจตรงกัน และจะมีการลงนามในสัญญาดำเนินโครงการ โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการลงนาม
นายอนุทิน กล่าวว่า ได้กำชับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้ความช่วยเหลือภาคเอกชน หากมีประเด็นที่ต้องแก้ไข แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะรัฐบาลมองที่ผลสำเร็จของโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการ EEC เดินหน้าต่อไป และเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์
นายอนุทิน กล่าวว่า หากส่งมอบพื้นที่ล่าช้า จะไม่มีการชดเชยในเรื่องของเงิน แต่จะเป็นการขยายเวลา ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว และสามารถมาพูดคุยกันได้หากมีอุปสรรคระหว่างดำเนินโครงการบนพื้นฐานสิทธิเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ยังให้ความเชื่อมั่นว่า จะไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนสาธารณูปโภคของภาครัฐ เนื่องจากเป็นงบประมาณของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว ในขณะที่ EEC ก็มีงบประมาณส่วนหนึ่งในการดำเนินการ ถือเป็นการใช้จ่ายในประเทศ ประชาชนได้ประโยชน์ ทุกหน่วยงานจึงไม่จำเป็นต้องห่วงงบประมาณ
นอกจากนี้ ในวันลงนามสัญญาโครงการก่อสร้าง 25 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมเป็นประธานสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้ด้วย