นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ รฟท.ชุดใหม่นัดแรกในวันนี้เห็นชอบการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังจากที่ผ่านการตรวจร่างสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุด ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.). และผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แล้ว
รวมทั้งให้นายวราวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท.เป็นผู้ลงนามในสัญญาของโครงการดังกล่าว และยืนยันวันลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร (CPH) เป็นวันที่ 25 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการ รฟท.จะขอติดตามโครงการดังกล่าว แม้ว่าไม่ได้เป็นคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ โดยขอให้ รฟท. รายงานความคืบหน้าทุกเดือน
ด้านนายวราวุฒิ กล่าวว่า หลังลงนามสัญญาก็คาดว่าเอกชนจะสามารถเข้าพื้นที่ได้ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ โดยการส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะสามารถส่งมอบได้ภายในไม่เกิน 2 ปีหรืออย่างเร็ว 1 ปี 3 เดือน หรือส่งมอบพื้นที่ได้มากกว่า 50% ตาม RFP
ส่วนที่ 2 ช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กม.ซึ่งเป็นพื้นที่แอร์พอร์ตลิงค์เดิมจะส่งมอบภายใน 2 ปี นับจากวันลงนาม หรือหลังจากเอกชนจ่ายเงินแล้วเสร็จประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท จะโอนส่วนแอร์พอร์ตลิ้งให้เอกชนเข้าดำเนินการ
ส่วนที่ 3 ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้บุกรุกมาก รฟท.มั่นใจว่าจะจัดการเองได้ รวมทั้งมีส่วนที่ต้องรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยเฉพาะท่อน้ำมันที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งพื้นที่เวนคืนก็ต้องรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งส่วนนี้คาดจะส่งมอบได้กว่า 2 ปี ทั้งหมดคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ 100% ในเวลากว่า 2 ปี
ทั้งนี้ รฟท.จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงาน (NTP) ได้ไม่เกิน 2 ปีนับจากวันลงนามในสัญญา โดยงานก่อสร้างจะใช้เวลา 5 ปี ขณะที่ รฟท.จะจ่ายค่าตอบแทนให้เอกชนหลังงานก่อสร้างเสร็จเป็นเวลา 10 ปี