นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะประชุมกันในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเล็กน้อย เพราะเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เติบโตแต่ยังไม่แข็งแกร่ง การปรับลดดอกเบี้ยก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจในการช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุน เพราะที่ผ่านมาการลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนก็ยังอยู่ในระดับต่ำ
ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐก็ยังมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อ อาจทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลเข้า กลายเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก
"แนวโน้มดอกเบี้ยในต่างประเทศ เช่น สหรัฐก็ลดลงไปเยอะแล้ว และยังมีแนวโน้มลงต่ออีก ของเราที่สูงกว่า ก็มีคำถามขึ้นมาว่าจะเป็นตัวที่ดึงให้เงินไหลเข้าประเทศทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไปหรือไม่ ขณะที่ปัจจัยในประเทศเอง ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังควบคุมไม่ได้ด้วย เพราะเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาต้นทุน ราคาพลังงาน อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแนวโน้มต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแกร่ง ก็คิดว่าถ้าลดลงได้นิดหน่อยก็ดีเพื่อกระตุ้นการลงทุน" นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันก็ไม่ถือว่าอยู่ในระดับสูง ไม่ได้ถือเป็นภาระกับผู้ลงทุนหรือผู้กู้เท่าไหร่นัก ไม่ได้มีผลบีบรัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าลดดอกเบี้ยลงได้ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความั่นใจในการลงทุนมากขึ้น
"ผมมองว่าถ้าลดก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน แต่ไม่ได้มองว่าจำเป็นต้องลด เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้คิดว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าปีที่แล้ว ขนาดปีที่แล้วที่ว่าแย่ เศรษฐกิจก็ยังโตได้ ส่งออกก็ยังไปได้"นายอดิศร กล่าว
สำหรับทิศทางของธนาคารไทยพาณิชย์ คงต้องรอดูดอกเบี้ยนโยบายเป็นหลัก เพราะฉะนั้นหาก ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารก็คงต้องกลับมาพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วย ส่วนจะลดในสัดส่วนเท่าไหร่ ก็ต้องดูธปท.เป็นหลักเช่นกัน
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักความสำคัญของ 2 ปัจจัยต่อไปนี้ คือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐ เพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเฟดอยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยของไทย และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อ สิ่งนี้อาจเป็นแรงกดดันให้เงินทุนไหลเข้าประเทศ ซึ่งยากต่อการดูแลค่าเงินบาทของธปท.
ขณะเดียวกันการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หากธปท. ลดอีก 0.25% ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นได้อีกทางหนึ่ง และปัจจัยที่สอง คือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคตจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดจากราคาต้นทุนเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีน้อยมาก เพราะการลงทุนและการบริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ดังนั้น การขึ้นหรือลดดอกเบี้ยในขณะนี้จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยจึงน่าจะมีมากกว่า
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร (BT) เชื่อว่าครั้งนี้ธปท.คงจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อป้องกันการขยายตัวของปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นจะกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทบกับค่าจ้างแล้วปัญหาเงินเฟ้อก็จะยากแก่การแก้ไข
"ยังไงแบงก์ชาติก็ต้องลดดอกเบี้ย แต่อาจจะไม่ใช่ตอนนี้ เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันแพง แรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันจึงยังมีสูงอยู่ ทางที่น่าจะบรรเทาปัญหาได้ คือ ปล่อยให้บาทแข็ง เพื่อนำเข้าน้ำมันได้ถูกลง"
แต่อย่างไรก็ตาม กนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็ที่ โดยคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ ดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2.0-2.5% แต่คงไม่ลดเท่ากับสหรัฐ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤติเหมือนสหรัฐ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/อภิญญา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--