KBANK เผยนักลงทุนจับตาอภิปรายงบปี 63 ชี้อาจส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2019 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย วิเคราะห์ประเด็นการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.62 ว่า นักลงทุนติดตามการอภิปรายครั้งนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีประเด็นด้านเสถียรภาพของรัฐบาล โดยรัฐบาลอยู่ในสถานะ "เสียงปริ่มน้ำ" และหากที่ประชุมเสียงข้างมากไม่ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลอาจต้องรับผิดชอบทางการเมือง อีกด้านหนึ่ง การพิจารณาร่างงบประมาณนี้ยังส่งผลโดยตรงต่อแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในปี 2563 ด้วย

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของจีดีพี และเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า 2 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.7%) โดยแบ่งเป็นรายจ่าย 4 ประเภท คือ 1.รายจ่ายประจำ 2.4 ล้านล้านบาท 2.รายจ่ายลงทุน 6.6 แสนล้านบาท 3.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.9 หมื่นล้านบาท และ 4.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 6.3 หมื่นล้านบาท

ร่างงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว คาดว่าจะไม่กระทบต่อวินัยและฐานะทางการคลังของไทย เนื่องจากคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยอยู่ที่ 2.731 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพียง 4.2% จากปีก่อน หรืออยู่ที่ 4.69 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.6% ของจีดีพี ทำให้ประเมินว่าหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 จะยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกำหนดเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพี โดยหนี้สาธารณะเดือนส.ค.62 อยู่ที่ 41.3%

สำหรับผลต่อแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปี 2563 นั้น การดำเนินนโยบายขาดดุลการคลัง ย่อมส่งผลต่อปริมาณการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐจำกัดปริมาณหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศไว้ไม่เกิน 10% ของหนี้สาธารณะรวม โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2561 วงเงินที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลคิดเป็น 89% ของวงเงินรายจ่ายลงทุน และเฉลี่ยวงเงินแต่ละไตรมาสให้ใกล้เคียงกัน

ในปีนี้ ปริมาณวงเงินประมูลจะแตกต่างจากปีก่อน เนื่องจากการเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ทำให้การพิจารณาล่าช้ากว่าปกติถึง 3 เดือน ด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย ทำให้ สบน. ประกาศวงเงินประมูลในไตรมาสที่ 1 ปี งบประมาณ 2563 ในระดับต่ำที่เพียง 134,000 ล้านบาท โดยวงเงินส่วนใหญ่อยู่ที่พันธบัตรอายุ 5-15 ปี เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว (30-50 ปี ) จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยที่อยู่ในระดับต่ำมากในช่วงที่ผ่านมา ด้วยงบรายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2563 ที่อาจจะเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณวงเงินออกประมูลทั้งปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่วงเงินประมูลในไตรมาสที่ 1 ปี งบประมาณ 2563 ที่น้อย ทำให้ สบน.ต้องเร่งประมูลพันธบัตรในช่วงที่เหลือของปี และคาดว่าวงเงินประมูลจะสูงที่สุดในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ

ด้วยรูปแบบของปริมาณอุปทานในตลาดที่น้อยในช่วงต้นปีงบประมาณ ขณะที่เศรษฐกิจไทยและโลกโดยรวมชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำยังสูง จึงจะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยอยู่ในระดับต่ำในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ขณะที่ปริมาณพันธบัตรที่คาดว่าจะออกประมูลเพิ่มขึ้น จะช่วยให้ปริมาณของอุปทานให้ตลาดเพิ่มขึ้น และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ