นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงกรณีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่มองว่าไม่ขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจ และไม่สนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร โดยยืนยันว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก รายได้เกษตรกร และการส่งออกเป็นอย่างมาก โดยได้บรรจุในนโยบายเร่งด่วน คือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร 5 สินค้า คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด และยังให้ความสำคัญกับพืชเกษตรอื่นๆ
"การประกันรายได้เกษตรกรไม่ใช่การประกันราคา เนื่องจากการประกันราคาขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก และจะขัดกับหลักการอุปสงค์ อุปทาน และกลไกทางการตลาด ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถกำหนดราคาได้และไม่มีนโยบายประกันราคา แต่การประกันรายได้จะทำให้เกษตรกรจะได้รับหลักประกันทางรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ"นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบายนี้ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 2 ทาง คือ 1.รายได้จากการขายพืชผลเกษตรตามราคาตลาด ณ เวลานั้น และมีแหล่งรายได้ที่สอง คือเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิง ซึ่งรัฐบาลจะโอนเงินส่วนต่างนี้เข้าบัญชี ธ.ก.ส.ของเกษตรกรโดยตรง ไม่มีการตกหล่นระหว่างทาง และถือเป็นเงินอีกก้อนที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ราคาสินค้าตกต่ำ
นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงถึงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ประกันกิโลละ 4 บาท งบประมาณ 14,000 ล้านบาท และได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรและเมื่อวันที่ 1 ต.ค.62 สูงสุดถึงครัวเรือนละ 12,000 บาท และจะมีการโอนปีละ 8 งวด ทุกๆ 45 วัน และยังมีมาตรการเสริมอื่นๆอีก เพื่อกระตุ้นราคาปาล์มให้สูงขึ้น เช่น การส่งเสริมส่งเสริมการใช้ B10 และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำปาล์มไปผลิตไฟฟ้า ตั้งเป้า 1,300,000 ตัน
ด้านการประกันราคาข้าว มีการกำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน โดยจะโอนเงินส่วนต่างทุก 15 วัน จนกระทั่งหมดเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ ตามเวลาการเก็บเกี่ยวที่เกษตรกรแจ้งไว้
ส่วนรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ชาวนาในภาคอีสานไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประกันราคานั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเหนียว ไม่ได้รับเงินส่วนต่างจริง เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคาประกันแล้ว จึงไม่ได้รับการชดเชยส่วนต่าง สำหรับชาวนาที่ปลูกข้าวบนที่ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เป็นประเด็นสำคัญในตลาดโลกที่จะรับซื้อเฉพาะพืชผลที่ปลูกบนที่ที่มีกรรมสิทธิ์ ชาวนาประเภทนี้จะได้รับเงินชดเชย แต่ขอให้ไปขึ้นทะเบียนตามความเป็นจริง ส่วนชาวนาที่ประสบกับน้ำท่วมจะได้เงินชดเชยด้วย เพราะถือว่าได้ปลูกข้าวจริง ซึ่งรัฐบาลจะดูแลชาวนาผู้ปลูกข้าวจริงทุกคน
ด้านยางพารา มีการตั้งงบไว้แล้ว 24,000 ล้านบาท ซึ่งครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 15 ต.ค.62 โดยประกันยาง 3 ชนิด ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ และจะโอนส่วนต่าง 1-15 พ.ย.นี้ ซึ่งตอนนี้ยังสามารถขึ้นทะเบียนได้ ขอให้ขึ้นทะเบียนตามความเป็นจริง คนกรีดยางก็ได้ ตามสัดส่วน กับเจ้าของสวน 40/60
ส่วนการประกันราคามันสำปะหลัง จะมีการนัดประชุม 3 ฝ่าย ในวันที่ 27 ต.ค. 62 ที่จ.อุดรธานี ส่วนการประชุมเรื่องข้าวโพด จะจัดที่จ.เพชรบูรณ์ ในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ และจะนำเรื่องเข้าสู่ ครม. ต่อไป
นายจุรินทร์ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การส่งออก ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกคาดว่าจะติดลบ 2.2% ถึง 2.5% โดยได้รับผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึง Brexit ทำให้หลายประเทศส่งออกก็ติดลบเช่นกัน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาหลายประเทศต้องส่งเสริมการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาตัวเลขการส่งออก โดยเตรียมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และจะมีการสรุปเร็วๆนี้ ซึ่งจะพยายามผลักดันให้สรุปให้ได้ จะทำให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดที่มีประชากรมากกว่าครึ่ง และ GDP มากกว่า 30% ของโลกได้
นอกจากนี้ จะเริ่มเดินหน้าเจรจาเสรีการค้าไทย-สหภาพยุโรป (FTA ไทย-อียู) ซึ่ง EU พร้อมจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกมิติ โดยจะมี FTA ไทย-อังกฤษ และไทย-ตุรกี ทั้งนี้ ตนเองรับทราบดีว่า สถานการณ์ส่งออกไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ จึงได้มีการตั้ง กรอ. พณ. เพื่อประสานความร่วมมือทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าด้วย