นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างปรับแผน พัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP2018) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงใหม่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นแผนดังกล่าวจะเร่งผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่จะเปิดรับซื้อใหม่จำนวน 400 เมกะวัตต์ (MW) จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองที่เป็นปัญหาหลักของประเทศ
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะชุมชนจะต้องมีการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักด้วย ส่วนราคาในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้น ยังต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน
นอกจากนี้ ตามแผน AEDP2018 ใหม่จะต้องรองรับนโยบายภาครัฐ ที่ปัจจุบันมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานจากชุมชน ซึ่งนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแล้ว ยังมีโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและหลักเกณฑ์ดำเนินโครงการ แต่เบื้องต้นทั้ง 2 โครงการจะต้องเร่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2565 เพื่อให้เกิดการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างรวดเร็ว
ด้านนายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมในโครงการของภาครัฐทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในจ.สระบุรี และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ราว 100 เมกะวัตต์ โดยได้หารือกับองค์กรในพื้นที่ไว้ 6 พื้นที่ ส่วนใหญ่มีกำลังผลิตกว่า 10 เมกะวัตต์ ได้แก่ นครราชสีมา, สงขลา, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรสาคร ส่วนในจ.ชลบุรีจะมีกำลังการผลิตประมาณ 20 เมกะวัตต์ และในจ.สระบุรี 40 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณาและต่อยอดการดำเนินการของบริษัท
อนึ่ง พพ.ได้เดินสายประชาพิจารณ์ร่างแผน AEDP2018 ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยตามแผนล่าสุดจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลใหม่จำนวน 3,496 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 64 เริ่มจากโรงไฟฟ้าประชารัฐใน 3 จังหวัดแดนภาคใต้รวม 120 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 60 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าขยะชุมชนใหม่ 400 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้าระบบในปี 65 ,โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพใหม่ 546 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้าระบบในปี 65 ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ,ขยะอุตสาหกรรม ,พลังน้ำ จะทยอยเข้าระบบในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบจะอยู่ในระดับไม่เกินกว่า 2.44 บาท/หน่วย