แหล่งข่าวจากสภาวิชาชีพบัญชี เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชี ได้มีการเจรจากับบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ที่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ให้รับทราบถึงข้อดี-ข้อเสียของการนำมาตรฐานบัญชี TAS 32 ฉบับใหม่มาใช้ในปี 63 จึงมีมติเห็นชอบออกมาตรการผ่อนผันการบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี หรือ 3 รอบบัญชี ให้กับบริษัทจดทะเบียนไทยที่ออก Perpetual Bond ไปแล้วเพื่อให้เวลาปรับตัว โดยจะเสนอให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กบบ.) พิจารณาในเร็ว ๆ นี้
ปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออก Perpetual Bond ได้แก่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) และ บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) คิดเป็นมูลค่าคงค้างรวมประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท
ในระหว่างที่ผ่อนผัน 3 ปีนั้น Perpetual Bond จะยังไม่ต้องเปลี่ยนประเภทตราสารไปเป็นฝั่งหนี้ หรือยังคงถูกจัดประเภทเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนตามเดิมได้อีก 3 ปี เพื่อให้เวลาบริษัทผู้ออกในการปรับแก้เงื่อนไข เช่น แก้ไขสัญญาเงินกู้ หรือไถ่ถอน Perpetual Bond เดิมแล้วออกหุ้นกู้รุ่นใหม่มาทดแทน เป็นต้น
แหล่งข่าว ระบุว่า ด้วยมาตรฐานการบัญชี TAS 32 ฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.63 จะส่งผลทำให้การบันทึกงบการเงินในส่วนของ Perpetual Bond เปลี่ยนจากฝั่งทุนเป็นหนี้สิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทผู้ออก จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และทำให้ต้นทุนทางการเงินสูง อีกทั้งอาจทำให้เจ้าหนี้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินกู้ก่อนกำหนดได้ เนื่องจากผิดข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้เรื่องการคงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ และท้ายที่สุดก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชี จะเสนอมาตรการดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี (บอร์ดใหญ่) และ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กบบ.) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ ทำให้มั่นใจว่าโอกาสที่อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทจดทะเบียนไทยทั้ง 8 บริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลของการบังคับใช้ TAS 32 นั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก