ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่า การส่งออกไทยทั้งปี 62 จะหดตัวลง 1% จากปีก่อน หลังจากที่ในเดือนก.ย.62 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 1.39% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.70%
การส่งออกในเดือนก.ย.ที่ยังคงอ่อนแอลงต่อเนื่อง มาจากผลของสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การส่งออกของไทยระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย.62 ยังคงหดตัว 2.11% โดยเฉพาะการส่งออกที่ลดลงในหมวดสินค้าเกษตร และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งออกน้ำมันยังคงหดตัวสูงที่ 28.53%
ทั้งนี้ การส่งออกทองคำขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 110.59% ตามราคาทองคำที่สูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์กลับมาฟื้นตัว
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง จากปริมาณการผลิตในตลาดโลกที่สูง และเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะข้าว -32.2% มันสำปะหลัง -35.16% ยางพารา -15.44% และกุ้งแช่แข็ง -10.5% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวจากผลของนโยบายกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ผ่านห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัว อาทิ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ -12.34% แผงวงจรไฟฟ้า +0.02% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ -4.8% ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทฟื้นตัวขึ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า +6.52% รถยนต์และส่วนประกอบ +5.43%
ส่วนการส่งออกในรายประเทศนั้น พบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรป อาเซียน9 และเอเชียอื่นๆ ยังคงหดตัว
ด้านการนำเข้าหดตัวตามแนวโน้มของการส่งออกที่อ่อนแอ โดยการนำเข้าสินค้าทุน การนำเข้าวัตถุดิบ และการนำเข้าน้ำมันหดตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัว 11% ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ขยายตัว 12.5%
ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จะยังเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมการส่งออกไทย แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากแนวโน้มที่ทั้งสองฝ่ายอาจบรรลุข้อตกลงการค้าในชั้นแรก (เฟส 1) อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ และจีนยังคงมีกำหนดเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกันอีกครั้งในเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งประเมินว่าภาษีนำเข้าบนกลุ่มสินค้าสำคัญ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า ล้วนแต่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของชาวอเมริกัน