รมว.พลังงาน ดัน B10 ช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบหวังยกระดับราคา พร้อมขอคุมสต็อก B100 ภาคพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 21, 2019 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "B10 ปฎิรูปน้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก"ว่า การส่งเสริมให้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล (B100) ในสัดส่วน 10% หรือ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 จะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ราว 2.2 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของกำลังการผลิต CPO ในไทย ขณะที่ปริมาณ CPO เพื่อใช้ในการบริโภคจะอยู่ที่ราว 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันในประเทศให้สูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่มีเสถียรภาพจึงได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการลักลอบนำเข้า CPO ขณะเดียวกันก็จะต้องดูแลไม่ให้ขาดแคลน CPO ในอนาคต เพื่อที่จะไม่ต้องปรับลดการผสม B100 ในน้ำมันดีเซล ลงไปสู่ระดับ 5% หรือ B5 หรือ 7% หรือ B7 อีก

ทั้งนี้ ในการประชุมคณกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ขอเข้าไปดูแลสต็อก CPO ที่จะนำมาผลิต B100 โดยการเติมสี (Marker) ใน CPO เพื่อจะได้แยกส่วนระหว่างสต็อก CPO ที่ใช้ในภาคพลังงาน และ CPO ที่ใช้ในภาคการบริโภค ซึ่งหากดำเนินได้ก็จะช่วยป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า และยังสามารถดูแลราคาผลผลิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วย ขณะที่ในอนาคตกระทรวงพลังงานก็อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมในระยะที่ 2 หรือ 3 ต่อยอดส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาปาล์มเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ที่กระทรวงพลังงานออกนโยบายให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล B10 ถูกกว่า B7 ในอัตรา 2 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 นั้น คาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ และน่าจะช่วยดูดซับปริมาณ CPO ได้ราว 1.68 แสนตัน/เดือน ซึ่งจะสามารถควบคุมสต็อก CPO ส่วนเกินได้ ขณะเดียวกันก็จะต้องได้รับความร่วมมือจากกรมศุลกากรในการตรวจเข้มเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า CPO ควบคู่กับการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ คู่ขนานกันไปด้วย

ปัจจุบันมีผู้ผลิต B100 ในประเทศ 13 ราย คิดเป็นปริมาณ 8.3 ล้านลิตร/วัน ผสมเป็น B10 ตามสเปกได้แล้ว 9 ราย ปริมาณ 6.8 ล้านลิตร/วัน

ขณะที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า การใช้น้ำมันดีเซล B10 จะช่วยลดปัญหาการเกิดควันดำได้ถึง 40% เทียบเท่าการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ราว 300 ตัน/ปี และไม่ได้เป็นปัญหาต่อสมรรถนะต่อเครื่องยนต์

ขณะที่ไทยปรับเปลี่ยนน้ำมันดีเซลพื้นฐานจาก B7 เป็น B10 จำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์ B100 ที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะปริมาณโมโนกลีเซอร์ไรด์ จากเดิมที่ไม่สูงกว่า 0.7% ก็จะต้องเป็นไม่สูงกว่า 0.4% โดยน้ำหนัก ซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและต้องใช้เวลาในการทยอยล้างถังเก็บ B100 เพื่อให้รองรับกับสเปกน้ำมัน B10 ด้วย

ทั้งนี้ ปตท. พร้อมที่จะปรับสเปก B100 ที่มีปริมาณโมโนกลีเซอไรด์ ไม่สูงกว่า 0.4% ตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้น้ำมันดีเซลทั้ง B7 และ B10 ของ ปตท.มีปริมาณโมโนกลีเซอไรด์ไม่สูงกว่า 0.4% เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะลดการเป็นไขลงได้

ปัจจุบัน ปตท.มีสถานีบริการน้ำมันจำหน่าย B10 จำนวน 60 แห่ง และภายในเดือนม.ค.63 คาดว่าจะกระจาย B10 ได้ทั่วประเทศ ก่อนจะมีจำหน่ายในสถานีบริการทุกแห่งของปตท.ตั้งแต่เดือนมี.ค.63 เป็นต้นไป ขณะที่เห็นว่าการส่งสัญญาณนโยบาย B10 ที่ชัดเจนของภาครัฐทำให้เห็นการเติบโตของการใช้ชัดเจนในอนาคต แต่ก็ควรประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อดูแลเรื่องการปลูกปาล์มไม่ให้มีผลผลิตมากเกินไป รวมถึงควรนำเรื่องของดิจิทัลเข้ามาช่วยบูรณาการระหว่างกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ