ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 ก.พ.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเพราะได้ได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ขณะที่ค่าเงินดอลลร์นิวซีแลนด์ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเพราะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัยในนิวซีแลนด์
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 81.53 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับของวันจันทร์ที่ระดับ 81.01 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 81.15 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์แคนาดา
ขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.4967 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.4825 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินปอนแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.9862 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9667 ดอลลาร์/ปอนด์
เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับ 107.26 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 108.07 เยน/ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินฟรังซ์สวิสและดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0759 ฟรังซ์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0889 ฟรังซ์/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 98 เซนต์แคนาดา/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 99.72 เซนต์แคนดา/ดอลลาร์สหรัฐ
เดวิด กิลมอร์ นักวิเคราะห์จากฟอร์เรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ อนาไลติกส์ ในรัฐคอนเน็กติกัต กล่าวว่า "ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว"
สำนักงานคอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ร่วงลงแตะระดับ 75.0 จุดซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2546 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันมีมุมมองที่เป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI ทั่วไปเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานพุ่งขึ้นอย่างมาก และดัชนี PPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์ของธอมสัน/ไอเอฟอาร์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.3%
กิลมอร์กล่าวว่า "ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยในนิวซีแลนด์ที่ระดับ 8.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในบรรดาสกุลเงินของประเทศกลุ่ม G-10 นอกจากนี้ ดอลลาร์นิวซีแลนด์ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการทำ carry trade"
นอกจากนี้ กิลมอร์กล่าวว่า "การแสดงความคิดเห็นของนายโดนัลด์ คอห์น รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้กังวลเรื่องเงินเฟ้อมากนัก แต่กลับไปให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่จะมีต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และเราคาดในการแถลงต่อสภาคองเกรสวันพุธนี้ นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดจะส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกระลอก"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--