น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2563 เฉพาะรัฐวิสาหกิจจำนวน 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง วงเงินดำเนินการ 1.44 ล้านล้านบาท และวงเงินบิกจ่ายลงทุน 3.4 แสนล้านบาท
สำหรับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 1.กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการจำนวน 1.24 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 2.96 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมขนส่ง 47.8% และรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน 35.5% ของวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในภาพรวม โดยปรับลดวงเงินดำเนินการ จำนวน 9.96 หมื่นล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 4.25 หมื่นล้านบาท
โครงการลงทุนที่สำคัญได้แก่ (1) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1) วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.81 หมื่นล้านบาท (2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.34 หมื่นล้านบาท และ (3) โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย (กฟผ.) ระยะที่ 1 วงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 1.35 หมื่นล้านบาท
2.กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการจำนวน 2 แสนล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 5 หมื่นล้านบาท
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุน น.ส.รัชดา คาดว่าจะสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 0.12%, เกิดการจ้างงานประมาณ 1.28 แสนคน, เกิดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากท้องถิ่นสู่เมือง
"ประมาณการรายได้ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 7.98 หมื่นล้านบาท สำหรับแนวโน้มการลงทุนช่วงปี 2564-2566 ของรัฐวิสาหกิจเฉลี่ยประมาณปีละ 3.93 แสนล้านบาท และผลประกอบการมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 9.87 หมื่นล้านบาท" รองโฆษกฯ ระบุ
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนที่ได้รับอนุมัติผูกพันสัญญา และการก่อหนี้ในรายการลงทุนที่มีความพร้อมตั้งแต่ในช่วงต้นปีงบประมาณ และให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้าน Digital Platform เพื่อใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี หากรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และบริษัทในเครือ 11 แห่ง (รวมเป็นรัฐวิสาหกิจ จำนวน 55 แห่ง ภายใต้สังกัด 16 กระทรวง เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2521) วงเงินดำเนินการ 2.80 แสนล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 2.04 แสนล้านบาท ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี 2563 ประกอบด้วย วงเงินดำเนินการ 1.52 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 5 แสนล้านบาท