นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมนา PIM Annual Conference 2019 on Creative Economy โดยระบุว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีส่วนในการสร้างเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในระยะยาว หลอมรวมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นของสินค้าและบริการ ยกระดับค่าจ้าง พัฒนาทักษะแรงงาน เพิ่มเวลาว่างสำหรับพักผ่อน และที่สำคัญที่สุดคือ การขยายตัวและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากจินตนาการและนวัตกรรมเป็นสิ่งเสริมสร้างเอกลักษณ์และความแปลกใหม่ให้กับสินค้าและบริการ
ในขณะที่เทคโนโลยี ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ การมีส่วนร่วมทางสังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงมีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมากมายให้กับ SME ได้อย่างอัตโนมัติ แนวโน้มนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศสำคัญหลายประเทศได้ประกาศตนเองว่าจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลก
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จากรายงานล่าสุดของ UNCTAD ขนาดตลาดสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของโลกขยายตัวขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 2.08 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2545 เป็น 5.09 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2558 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่สูงกว่า 7% ถึงแม้ว่าโลกจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ ในขณะที่ทวีปยุโรปเป็นผู้ส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุด แต่กลุ่มประเทศในเอเชียกำลังมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยจีนเพียงประเทศเดียวก็มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์สูงถึง 14% ระหว่างปี 2545 ถึง 2558 ปรากฏการณ์นี้เครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ากลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลกตั้งอยู่ที่เอเชีย
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่โดดเด่นในตลาดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลก ด้วยมูลค่าถึง 6.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 แสนล้านบาท มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของไทยสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และเป็นอันดับที่ 17 เมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลก และได้ขยายตัวด้วยอัตราก้าวกระโดดที่ 6.6% ต่อปี ระหว่างปี 2548 และ 2557 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีสัดส่วนถึง 10-12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย ที่สำคัญไปกว่านั้น ประเทศไทยเป็นที่รู้จักดีในเวทีโลกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ดังนั้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงถือเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสำหรับประเทศเป็นอย่างยิ่ง และในการส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศไทยจึงใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ อาหารไทย และหัตถกรรมไทย รวมทั้ง งานศิลปะ สื่อสร้างสรรค์ และงานออกแบบที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศ โดยสำหรับไทย สินค้าส่งออกเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายใน และสินค้าแฟชั่น เป็นต้น
"มีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ที่การทำให้สินค้าและบริการมีความแปลกใหม่และโดดเด่น ได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดและขยายตัวของธุรกิจ" นายจุรินทร์ กล่าว