นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งขยายตลาดให้กับสินค้าเกษตรของไทย โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเดินหน้าลงพื้นที่พบปะ สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรไทยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และฮ่องกง ซึ่งมีเอฟทีเอกับไทย และได้ลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากไทยแล้ว โดยเฉพาะในสินค้าเกษตรจำพวกผัก ผลไม้, ยางพารา, มันสำปะหลัง, เนื้อสัตว์ และสินค้าประมง เป็นต้น
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า กรมฯ ขานรับนโยบายจาก รมช.พาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ 13 ฉบับในปัจจุบัน สร้างแต้มต่อในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะเมื่อประเทศคู่เอฟทีเอยกเลิก หรือลดภาษีศุลกากรที่เก็บจากไทยแล้ว จะทำให้ไทยมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันที่ไม่มีเอฟทีเอกับประเทศที่ไทยส่งออก
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กรมฯ ได้หารือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันอยู่ว่า ในปีงบประมาณ 2563 รมช.พาณิชย์ จะนำคณะกรมเจรจาฯ ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกร และจัดสัมมนา ใน 6 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ดังนี้ 1) เดือนพฤศจิกายน 2562 จังหวัดนครสวรรค์ (กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง) สินค้าข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด กล้วยไข่ และมันฝรั่ง 2) เดือนธันวาคม 2562 จังหวัดสงขลา (กลุ่มจังหวัดภาคใต้) สินค้าข้าว อาหารทะเล ใยตาลโตนด ยางพารา และผลไม้ 3) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จังหวัดอุตรดิตถ์ (กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง) สินค้ามันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด อ้อย ผลไม้ และกาแฟ
4) เดือนมีนาคม 2563 จังหวัดบุรีรัมย์ (กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) สินค้าอ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และผลไม้ 5) เดือนพฤษภาคม 2563 จังหวัดระยอง (กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก) สินค้ามันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และยางพารา และ 6) เดือนมิถุนายน 2563 จังหวัดสกลนคร (กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) สินค้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย โคเนื้อ ผลไม้ และผ้าย้อมคราม
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี, เปรู, ชิลี และฮ่องกง โดยสินค้าเกษตรของไทยที่การส่งออกขยายตัวในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2562 โดยส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์ของเอฟทีเอ ซึ่งสวนกระแสการส่งออกหดตัว เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าการส่งออก 3,037 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 43% ไก่แปรรูป มูลค่าการส่งออก 1,934 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10% และผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่าการส่งออก 8,237 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1%