(เพิ่มเติม) รฟท.-กลุ่มซีพีพร้อมพันธมิตร เซ็นสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 24, 2019 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสาม สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจกับความก้าวหน้าของโครงการนี้ที่มีการทำงานมาตลอด 2 ปี วันนี้ถือเป็นการนับหนึ่งที่มีการลงนามในสัญญาและการเริ่มต้นการก่อสร้าง โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท และถือเป็นโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับไม่ใช่เพียงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเท่านั้น แต่จะเกิดประโยชน์เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟไทย-จีนด้วย

"ขอให้เชื่อมั่นไว้วางใจว่า เราเดินหน้ามาถึงตรงนี้ได้ ถือว่าเดินก้าวที่หนึ่งแล้ว จึงอยากให้ทุกคนสนับสนุนให้เราเดินก้าวที่สองได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบคมนาคมในทุกด้าน ทั้งทางบก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ทางเรือ เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงทางอากาศ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างงานสร้างอาชีพ

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจะต้องเป็นไปตามสัญญา ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมทางออกในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่เป็นปัญหาไว้แล้ว เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานในเรื่องนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้โครงการนี้ถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่แล้วด้วยที่ได้เริ่มต้นโครงการไว้ จนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่สามารถลงนามในสัญญาได้ ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาล มองว่า การก่อสร้างโครงการนี้สำเร็จจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน การขยายเมืองใหม่ เกิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ แต่ต้องลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ด้วย

"ทุกสถานนีที่จอดมีโอกาสเติบโตทั้งสิ้น มีการทำคมนาคมเชื่อมต่อเข้ามา ทางรถยนต์ ทางราง เพื่อเปิดเส้นทางใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลางด้วยเชื่อมต่อทางบก ทางเรือ ทางอากาศ อันนี้คืออนาคตของเรา ไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะขับเคลื่อนให้ได้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทานโดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ปรากฎว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร (กม.) โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 66 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ