นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกฟผ. ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ จะพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร ให้กฟผ.ดำเนินงานได้คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อรองรับธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอแก้ พ.ร.บ.กฟผ. รวมถึงยังเป็นการไปตามแผนการส่งเสริมให้ไทยเป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค
ส่วนการทำธุรกิจเทรดดิ้งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำเป็นต้องรอการแก้ไขกฎหมาย กฟผ. เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายให้ กฟผ. นำเข้า LNG เพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เท่านั้น และยังต้องรอดผลการทดสอบระบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ (TPA) ด้วย หลัง กฟผ.จะนำเข้า LNG จากตลาดจร (Spot) จำนวน 2 ลำเรือ ลำเรือละ 6.5 หมื่นตัน โดยลำแรกนำเข้าเดือน ธ.ค.นี้ และลำที่ 2 เดือนเม.ย.63 โดยขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการเปิดประมูลนำเข้า LNG ซึ่งคาดว่าจะได้ราคาระดับที่ดี เพราะช่วงปลายปีราคา LNG ยังไม่แพง แต่จะปรับสูงขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.63 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของยุโรป ทำให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้น
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ยังได้เร่งรัดให้ กฟผ. ปรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ (MW) ให้เร็วขึ้น 2-3 ปี จากเดิมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเข้าระบบในปี 2570 และ 2571 ก็ให้ปรับให้สร้างเสร็จในปี 2568 และ 2569 คาดเงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ถูกชะลอออกไปโดยไม่มีกำหนด ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอเพียง
ทั้งนี้ กฟผ.ก็ต้องเร่งปรับแผน ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะนำก๊าซธรรรมชาติจากแหล่งใด หรือจะนำเข้า LNG เพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมทั้งการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติที่จะส่งไปยังโรงไฟฟ้าจะเร่งดำเนินการได้อย่างไรด้วย