นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในงานสัมมนา "จับตาเศรษฐกิจไตรมาส 4"ว่า ธนาคารประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 จะขยายตัวได้ 3.5% ดีกว่าไตรมาส 3/62 ที่เติบโตได้ 2.7% เนื่องจากปลดล็อกความไม่แน่นอนเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยเฉพาะมาตรการชิมช็อปใช้ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันการบริโภคภายในประเทศ และส่งผลให้ GDP ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาดูการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเดินถอยหลัง รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนสูง ทำให้การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางหลายประเทศยังอยู่ในเชิงผ่อนคลาย ทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ชดเชยสิ่งที่เป็นอุปสรรคทางด้านโครงสร้าง
พร้อมกันนี้ ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้า และในปี 63 ยังมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง ขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.25%
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 4/62 นี้ นายกอบสิทธิ์ คาดว่า คงไม่ได้หวือหวามากนัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และเงินฝืดยังมีน้ำหนักมากกว่าเงินเฟ้อ รวมถึงนักลงทุนส่วนใหญ่ยังชอบตราสารหนี้มากกว่า เนื่องจาก GDP ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยธนาคารประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นมีข้อดีที่อัตราผลตอบแทนบางส่วนก็สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกลงทุน
สำหรับทิศทางค่าเงินบาท มองว่ายังมีแนวโน้มแข็งค่าไปจนถึงสิ้นปี 63 โดยสิ้นปีนี้คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนครึ่งปีแรกของปี 63 คาดว่าจะปรับแข็งค่าไปอยู่ที่ 29.70 บาท/ดอลลาร์ และสิ้นปี 63 จะแข็งค่าไปที่ระดับ 29.20-29.30 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบมากกว่า 5 ปี
"เป็นครั้งแรก ที่ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ค่าเงินบาทต่ำกว่าระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังคงกดดันอยู่ เช่น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ต้องรอลุ้นว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซึมตัว และมีโอกาสที่เศรษฐกิจถดถอยในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 26% ทำให้คนยังต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่" นายกอบสิทธิ์ระบุ
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามดูว่าสถาบันจัดอันดับความมน่าเชื่อถืออย่าง ฟิทช์ เรทติ้ง และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จะปรับเพิ่มเรทติ้งประเทศไทยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าหรือไม่ จากเดิมอยู่ที่ BBB+ เนื่องจากมุมมองของนักลงทุนดีขึ้น ส่งผลทำให้เงินบาทและตราสารหนี้ของไทยเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจและปลอดภัย ในภาวะที่โลกมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงโอกาสชะลอลงมีมาก
ขณะเดียวกัน ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุล โดยคาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะเกินดุลที่ราว 34,000 ล้านดอลลาร์ โดยเงินยังไหลเข้ามาค่อนข้างมาก สะท้อนความไม่สมดุลทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราการออมต่อ GDP ของประเทศ ยังอยู่ที่ 34% หรือการหารายได้เข้ามาในประเทศไทยมากกว่าการใช้จ่าย ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอัตราการลงทุนเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ใกล้เคียง 23-26% โดยส่วนต่างดังกล่าวที่อัตราการออมสูงกว่าการลงทุนต่อ GDP สะท้อนเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด จึงส่งผลให้เงินบาทยังมีแนวโน้มที่แข็งค่าต่อเนื่อง