(เพิ่มเติม) IMF คาด ศก.ไทยปีนี้โต 2.9% จากครั้งก่อนคาด 3.5% ส่วนปี 63 คาดโต 3% แนะใช้นโยบายการเงิน-การคลังดูแล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 25, 2019 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.9% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน เม.ย.62 ที่ระดับ 3.5% เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3%

พร้อมมองว่าไทยยังสามารถใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และลดแรงกระแทกจากเศรษฐกิจขาลง รวมทั้งควรส่งเสริมนโยบายการออมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

"ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังที่จะดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ขาลงที่รุนแรง การใช้เครื่องมือทางการคลังที่เหมาะสมจะช่วยลดแรงกระแทกเศรษฐกิจขาลงได้" นายโจนาธาน ออสทรี ระบุ

พร้อมกันนี้ IMF ยังเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ในปี 62 เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว 5% และในปี 63 คาดว่าจะขยายตัว 5.1% (ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เมื่อเดือน เม.ย.62) โดยการค้าและการลงทุนชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในประเทศพัฒนาแล้ว และภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น แม้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อความเปราะบางทางการเงินของประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกภูมิภาค ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และความเสี่ยงจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) แบบไร้ข้อตกลง ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในภูมิภาค ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความตึงเครียดภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สูงขึ้น

"เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และความกังวลในอนาคตต่อภาวะการค้าโลก ส่งผลให้การลงทุนในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวลง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลง การส่งออกลดลง แต่การบริโภคยังไปได้ดี เพราะมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การบริโภคจึงไม่ได้ลดลงมากนัก" รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก IMF กล่าว อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 5% นั้น แม้จะเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจในเอเชียก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโลกยังมีการเติบโตได้

ในรายงานของ IMF ยังระบุด้วยว่า ภายใต้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควรใช้ขีดความสามารถของนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่การดำเนินนโยบายในภาคการเงิน ควรปรับตัวในเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้นเร่งให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการลดปัญหาหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนในประเทศที่มีคามเสี่ยง

นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ยังเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ประกอบกับการเติบโตบนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สำหรับนโยบายในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ผ่านการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้แก่การค้าบริการระหว่างประเทศ และการผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุน การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ ตลอดจนมาตรการเพื่อลดปัจจัยที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างกันชนทางการคลัง เพื่อรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ