นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายน 2562 จำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์ และประเภทพิโกพลัส ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท สามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน" หรือ "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" ได้ด้วย
สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์ และประเภทพิโกพลัส รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,213 ราย ใน 76 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (106 ราย) กรุงเทพมหานคร (92 ราย) และขอนแก่น (64 ราย) ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 125 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 1,088 ราย ใน 75 จังหวัด และมียอดสะสมของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 710 ราย ใน 72 จังหวัด ซึ่งได้แจ้งเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 590 ราย ใน 68 จังหวัด และมีผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 555 ราย ใน 67 จังหวัด โดยแบ่งเป็น
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 986 ราย ใน 76 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์แล้ว 699 ราย ใน 72 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้ว 580 รายใน 68 จังหวัด
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 102 ราย ใน 43 จังหวัด ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมซึ่งได้รับใบอนุญาต และเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นสินเชื่อประเภทพิโกพลัส 70 ราย ใน 35 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขอใหม่ 32 ราย ใน 8 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้ว 11 ราย ใน 6 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้ว 10 ราย ใน 6 จังหวัด
(3) ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างรวม
(3.1) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 119,551 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 3,137.05 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,240.21 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 57,613 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,714.96 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.67% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 61,938 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,422.09 ล้านบาท หรือคิดเป็น 45.33% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
(3.2) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 มียอดสินเชื่อคงค้างรวมจำนวนทั้งสิ้น 44,861 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 1,273.01 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระ 1 - 3 เดือน จำนวน 5,574 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 173.08 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.60% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 4,253 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 123.70 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.72% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม
สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 622,063 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,357.27 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 576,434 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,389.49 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบ ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 45,629 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,967.78 ล้านบาท