ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 29-30 ตุลาคมนี้ โดยเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ติดต่อกันเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มปรากฏสัญญาณอ่อนแรงที่ชัดขึ้น
สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในรอบนี้ หากเกิดขึ้นจริงก็คงมีผลหนุนค่าเงินบาท (ที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ในกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ที่ปลอดภัย) เพียงระดับหนึ่ง เนื่องจากตลาดได้รับรู้โอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ไปพอสมควรแล้ว
ขณะที่จุดตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินในการประชุมสัปดาห์ถัดไปคงแปรผันตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศมากกว่า ซึ่งต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างขัดเจนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากสงครามการค้าด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดมีโอกาสที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปี เพื่อรอประเมินทิศทางของปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยยะต่อการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นที่น่าติดตามมีดังนี้
ทิศทางของการคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน คงหนีไม่พ้นการลงนามข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกในช่วงกลางเดือน พ.ย. 2562 ว่าจะสามารถนำสู่การเจรจาการค้าในเฟสต่อไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งแม้ความเสี่ยงทางการค้านี้ ยังเป็นประเด็นที่ยืดเยื้อ แต่ในการหารือระหว่างทั้งสองประเทศเฉพาะหน้านี้ ก็มีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะหลีกเลี่ยงการยกระดับข้อพิพาททางการค้า ท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยลดทอนความเสี่ยง ‘เพิ่มเติม’ ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้บ้าง
พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงไตรมาส 3/62 ทั้งนี้ การปรับลดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้ง การเริ่มการซื้อพันธบัตรระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีสัญญาณตึงตัว น่าจะเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับหนึ่ง ทำให้เฟดเลือกติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่จะทยอยประกาศออกมา รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ ราคาสินทรัพย์ในตลาดทุน ก่อนที่จะพิจารณาทิศทางนโยบายการเงินในระยะถัดไป
ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดคงจะส่งสัญญาณถึงมุมมองค่อนข้างบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่พัฒนาการของเศรษฐกิจจริงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าคงเป็นเครื่องบ่งชี้ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไป ทั้งนี้ ข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเฟสแรกอาจไม่เพียงพอในการคลี่คลายปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญตลอดจนหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาเติบโตในอัตราเร่งขึ้น ทำให้เฟดยังคงเผชิญกับความท้าทายต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินในระยะต่อไป