นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กรณีสหรัฐฯตัดสิทธิทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) สินค้าไทยบางรายการที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เม.ย.63 นั้น ปัจจุบันนี้สหรัฐฯให้สิทธิ GSP สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมดราคา 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิเต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิ โดยใช้สิทธิแค่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ส่งออกไปในทุกวันนี้
ซึ่งประเด็นของการจากตัด GSP หมายความว่าต่อไปนี้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จำนวนยอดขายรวมกัน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้นจะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี ภาษีที่ต้องเสียตก 4-5% โดยประมาณ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่าต่อไปนี้สินค้าไทย ที่จะส่งไปขายสหรัฐฯจะต้องมีภาระภาษีแทนที่จะไม่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้วตกประมาณ 1,500 ถึง 1,800 ล้านบาท/ปี
"กล่าวโดยสรุปก็คือการตัดสิทธิพิเศษภาษีทางศุลกากรของสหรัฐฯ ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปขายยังสหรัฐอเมริกา มีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 1,500 -1,800 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นที่มาของสหรัฐฯ อ้างว่าใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ ทำให้เราต้องเสียภาษีคือเรื่องแรงงาน สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถตั้งสหพันธ์แรงงานได้อันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ส่วนประเด็นอื่นนั้นขอให้ทางกระทรวงแรงงานเป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง" นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาประจำปีของสหรัฐฯ แต่ไทยสามารถที่จะอุทธรณ์หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างเช่นปีที่แล้วก็ทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ และปีนี้ไทยก็จะยื่นขอทบทวนอีก ถ้าสหรัฐฯไม่ทบทวนถือว่าเป็นอำนาจของสหรัฐฯเข่นกัน เพราะสหรัฐฯมีสิทธิฝ่ายเดียวสามารถให้หรือไม่ให้ประเทศใดก็ได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สหรัฐฯให้ฝ่ายเดียว เมื่อสหรัฐฯไม่ให้หรือทบทวนแล้วไม่ให้ไทยก็จะไม่ได้สิทธิพิเศษนั้น ต่อไปนี้ไทยก็จะต้องจ่ายภาษีตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯกำหนดทำให้ไทยมีภาระทางภาษีเพิ่มขึ้น 1,500 -1,800 ล้านบาท/ปี
ส่วนกรณีที่ไทยแบน 3 สารเคมีอันตรายก่อนหน้านี้ เท่าที่ติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้สิ่งที่ไทยทราบเป็นทางการ คือ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน สรุปว่าสิ่งที่สหรัฐฯอ้างในการตัดสิทธิ GSP ไม่เกี่ยวกับการแบน 3 สารเคมีอันตรายแต่อย่างใด