เลขา ก.ล.ต.แนะปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนชั่วคราวรองรับยกเลิกมาตรการ 30%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2008 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เสนอแนะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จับเข่าหารือรมว.คลัง ปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนกำหนดเป็นมาตรการเฉพาะกิจชั่วคราวในการดูแลค่าเงินบาท เพื่อรองรับสถานการณ์หากมีการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% โดยอาจใช้ตัวอย่างสิงคโปร์ที่กำหนดช่วงเคลื่อนไหวค่าเงินก็ได้ 
"พ.ร.บ.เงินตรา ในมาตรา 8 เปิดโอกาสให้ธปท.และรมว.คลังหารือกันเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนชั่วคราวเพื่อความเหมาะสม แต่ควรจะเสนอ ครม.ให้เห็นชอบด้วย เพื่อให้กำหนดเป็นนโยบายรัฐบาลในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน"นายธีระชัย กล่าวในการสัมมนา"ตลาดทุนไทย...ใครจะผ่าตัด"
นายธีระชัย กล่าวว่า ผู้ว่าการ ธปท.และ รมว.คลัง ควรจะหารือกันและประกาศเป็นนโยบายชัดเจนว่าจะมีทิศทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร เช่น ประกาศชัดเจนว่าจะดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค แต่ไม่ใช่การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ซึ่งเหมือนกับในสิงคโปร์ที่ใช้ Basket, Band and Crawl (BBC)ที่กำหนดช่วงการเคลื่อนไหวของค่าเงิน เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจ สามารถวางแผนจัดการบริหารการลงทุนได้ดีขึ้น
เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า รัฐบาลควรสร้างความชัดเจนว่าจะมีการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% หรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะเดินทางไปโรดโชว์ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยให้กับนักลงทุนต่างประเทศได้รับทราบ โดยมองว่ามาตรการ 30% มีข้อเสียพอสมควร เช่น ทำให้เงินบาทตลาดแยกเป็น 2 ตลาด ส่งผลทางจิตวิทยา ที่ให้ความรู้สึกว่าเรากำลังวิ่งไล่เงาตัวเอง จนมีประเด็นขึ้นมาว่ามีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างของค่าเงินบาทใน 2 ตลาด ในลักษณะ arbitrage
อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกมาตรการ 30% ทางการก็คงต้องมีมาตรการเสริมตามมาอีก เพื่อรับมือกับเงินทุนไหลเข้า โดยอาจจะต้องเพิ่มต้นทุนให้กับเงินที่เข้ามาเก็งกำไร หรือ hot money โดยเฉพาะเงินดังกล่าวที่มักจะเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งอาจจะทำให้ลักษณะเดียวกับ fully hedge แต่ไม่ควรใช้มาตรการดังกล่าวกับเงินลงทุนในตลาดหุ้น เพราะจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง
และควรจะเปิดให้มี outflow ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อย่างที่ผ่านมา ธปท.ยังไม่ได้อนุมัติให้ขยายเพดานการออกไปลงทุนในต่างประเทศของบุคคลไทย เพราะยังติดปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งจริง ๆ ควรจะรีบผ่อนคลาย เพราะเป็นการลงทุนส่วนบุคคลที่ผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงเอง ไม่ได้เป็นภาระของธปท.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ