สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. 2562 อยู่ที่ 97.50 หดตัว 4.73% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดัชนี MPI ในไตรมาส 3/62 หดตัว 4.15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวลง เนื่องจากอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันบางรายหยุดซ่อมบำรุงตามรอบปี ทำให้อัตรการใช้กำลังการผลิตรวมลดลง
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนก.ย.62 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ รถยนต์และเครื่องยนต์ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.60%
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนก.ย. ได้แก่ เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin และ Propylene เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตบางรายมีการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักร ส่วนภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.79%
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยโลหะและเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ที่ผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ส่วนภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.36% โดยผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องเรือนทำด้วยไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงได้เร่งการผลิตเพื่อให้ทันการส่งมอบ
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ผลิตได้ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม รวมทั้งได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ส่วนภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.15% ตามการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม พม่า เป็นต้น
สุรา ขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์สุราขาวและสุราผสม เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีการตอบรับที่ดีทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงการวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ เช่น ประเทศพม่า ส่วนภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อุตสาหกรรมสุราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.14%
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด และยาครีม โดยส่วนใหญ่เป็นยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบ ยาแก้แพ้ ที่ผู้ผลิตได้ขยายตลาดใหม่หลังจากการขยายกำลังการผลิต และได้เตรียมความพร้อมให้สถานที่เก็บรักษายาที่สามารถรองรับการผลิตยาได้มากขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.05%
นายทองชัย กล่าวว่า มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกเกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ อาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ชิมช้อปใช้เฟส 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการซื้อจากทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออกภาคบริการ (นักท่องเที่ยวต่างประเทศ) โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น
ขณะที่ดัชนี MPI งวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.62) อยู่ที่ระดับ 103.12 หดตัว -2.59% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตั้งเป้า MPI และ GDP ภาคอุตฯ ทั้งปียังให้กรอบไว้ที่ 0-1% ค่ากลาง 0.5%
ส่วนแนวโน้มดัชนี MPI ไตรมาส 4/62 อาจจะติดลบแต่ยังหวังว่าจะลบไม่มาก โดยยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก, สงครามการค้า (Trade war), สถานการณ์ค่าเงินบาท
"ไตรมาส 4/62 เราหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิ ชิมช็อปใช้เฟส 2 น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวไปมากกว่านี้ซึ่งสศอ.อาจจะมีการทบทวนตัวเลขในเดือนพ.ย.โดยระหว่างนี้คงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอย่างใกล้ชิด"นายทองชัย กล่าว
นายทองชัย กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ระงับการให้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการนั้นล่าสุด สศอ.และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงฯ เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ ฯลฯ รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำลังรวบรวมข้อมูลว่าสินค้าใดบ้างที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุดเพื่อที่จะหามาตรการรองรับ โดยคาดว่าจะสรุปได้ในเดือนพ.ย.นี้
"เบื้องต้นพบว่าจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดที่มี 500 รายการ แต่ใช้สิทธิ GSP จริงเพียง 300 กว่ารายการเท่านั้น เบื้องต้นมองว่าผลกระทบไม่มากนัก น่าจะแค่ จุด 0 กว่านิดๆ ขณะเดียวกัน GSP ที่เราถูกตัดนั้นผลกระทบแต่ละตัวก็จะต่างกัน มาตรการดูแลอาจต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าออกไป โดยไม่ต้องมี GSP ถือว่าเป็นความเข้มแข็งยั่งยืนของเรา ก็สุดยอดแล้ว"นายทองชัย กล่าว