ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่า กรณีสหรัฐฯ ประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) กับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย 573 รายการ หรือราว 40% ของจำนวนสินค้าทั้งหมดของไทยที่ใช้สิทธิ GSP ในปี 2561 โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไปนั้น เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า การตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ โดยรวมไม่มากนัก
เนื่องจากในปี 2561 ไทยใช้สิทธิ GSP ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปสหรัฐฯ เพียง 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.6% ของมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกสำคัญของแต่ละหมวดหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ อย่าง HDD ซึ่งเป็นสินค้าหลักในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สับปะรดกระป๋องในหมวดผัก-ผลไม้กระป๋อง และยางล้อในหมวดผลิตภัณฑ์ยาง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิในรอบนี้เพราะทั้งหมดเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP ตั้งแต่แรก หรือถูกตัดสิทธิ GSP ไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ หากพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญ 40 อันดับแรกตามพิกัดสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (สัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2561) จะพบว่ามีสินค้าเพียง 5 รายการที่ถูกตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้
แต่มีข้อสังเกตว่า การตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้ จะกระทบกับผู้ประกอบการบางส่วน ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบจะแตกต่างกันตามสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และส่วนต่างระหว่างภาษีปกติ (MFN) กับ GSP ดังนี้
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าที่มีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง (สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนสูงถึงกว่า 20-30% ของมูลค่าส่งออก) และมีส่วนต่างภาษีปกติ (MFN) กับ GSP สูง (5% ขึ้นไป) อาทิ ปูแปรรูป (HS 1605104) ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย การที่ภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 5% ทำให้ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสินค้านี้ในลำดับต้นๆ และยังคงได้รับสิทธิ GSP, ดอกไม้ประดิษฐ์อื่นๆ (HS 67029065) พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ถึง 55.9% เสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 17% เช่นเดียวกับ Epoxy Resin ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% ผลไม้ ลูกนัต หรือส่วนอื่นๆ ของพืช ปรุงแต่ง เสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 6% และอ่างล้างชาม อ่างล้างหน้า และเครื่องสุขภัณฑ์ที่ทำจากเซรามิก เสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 5.8%
สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ สินค้าที่แม้จะมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง แต่มีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ (ไม่ถึง 5%) อาทิ ผลไม้อื่น ๆ กระป๋อง เช่น มะม่วงกระป๋อง (HS 20089940001) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญอันดับ 1 ของไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 42.5% แต่อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี เป็นเสียภาษีกิโลกรัมละ 1.5 เซ็นต์ และสินค้าที่มีสัดส่วนการพึ่งพาสหรัฐฯ ปานกลาง (เนื่องจากมีการกระจายการส่งออกไปตลาดอื่น นอกเหนือจากสหรัฐฯ) และมีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ (ไม่ถึง 5%) อาทิ รถจักรยานยนต์ ขนาดมากกว่า 800 cc. ที่แม้จะพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ อยู่ 23% แต่ก็มีกระจายส่วนแบ่งตลาดไปสหราชอาณาจักร 37% และจีน 16% และแว่นตา ที่ไม่ใช่แว่นกันแดด ที่มีตลาดหลัก คือ สหราชอาณาจักรสัดส่วน 34% ออสเตรเลีย 22.6% และสหรัฐฯ 18.5%
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ คือ กลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ น้อยมาก หรือแทบไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ เลย อาทิ เนื้อปลาโซล (Sole Fish) รถเข็นที่ใช้ในโรงงาน (HS 87168050) ผลไม้ตระกูลเบอร์รี (HS 081120) และเสื้อกระโปรงชุดสำหรับสตรีและเด็กหญิงที่ทำจากไหม (HS 62044910)
ขณะที่จะเห็นได้ว่ากฎกติกาและบริบทของตลาดที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เงินบาทแข็งค่า การแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบด้านราคาของประเทศผู้ผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงจาก Globalization มาสู่ Protectionism ซึ่งสะท้อนได้จากการที่หลายประเทศนำมาตรการต่าง ๆ ทางการค้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันภายใต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การใช้มาตรการ AD และ Safeguard รวมถึงมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อควบคุมดูแลการนำเข้าสินค้าและบริการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา