(เพิ่มเติม) กนง.คงดอกเบี้ยอาร์/พี 1 วันที่ 3.25% กังวลเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2008 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี โดยให้น้ำหนักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น
นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า อุปสงค์ในประเทศเร่งตัวขึ้นทั้งจากการบริโภคและการลงทุน การส่งออกขยายตัวได้ดี ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศมีความต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อไปจะช่วยชดเชยผลกระทบจากความเสี่ยงที่การส่งออกจะชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยและเรี่มเห็นภาพที่ส่งผลเสียไปยังยุโรป
คณะกรรมการฯ กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงส่งที่ดีขึ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับสูงแต่คาดว่าจะปรับลดลงในระยะต่อไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ภายในช่วงเป้าหมายตลอด 8 ไตรมาสข้างหน้า
อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจอ่อนแอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ และส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไป จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นางสาวดวงมณี กล่าวว่า การที่ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐอยู่ในระดับสูง คงไม่ได้มีผลทำให้เงินไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นมากมายนัก เพราะปัจจุบันการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศมีหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญคือ ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ประกอบกับ ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ในระยะนี้ เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทด้วย
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงระยะ 12 เดือนติดลบ 1% ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค ดังนั้น การที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและนอกประเทศสูงที่คงไม่ใช่สาเหตุที่เงินไหลเข้ามามาก
นางสาวดวงมณี กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางที่จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% นั้น กนง.ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยพิจารณาความเหมาะสมอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเงินทุนเคลื่อนย้าย นอกจากนั้น แต่ปัจจัยหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภายนอกประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ