คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี โดยให้น้ำหนักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น
นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า อุปสงค์ในประเทศเร่งตัวขึ้นทั้งจากการบริโภคและการลงทุน การส่งออกขยายตัวได้ดี ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศมีความต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อไปจะช่วยชดเชยผลกระทบจากความเสี่ยงที่การส่งออกจะชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยและเรี่มเห็นภาพที่ส่งผลเสียไปยังยุโรป
คณะกรรมการฯ กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงส่งที่ดีขึ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับสูงแต่คาดว่าจะปรับลดลงในระยะต่อไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ภายในช่วงเป้าหมายตลอด 8 ไตรมาสข้างหน้า ส่วนการที่รัฐตรึงราคาก๊าซหุงต้มในช่วง 5 เดือนนี้ ทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสต่ำลง ซึ่งธปท.ได้ทำกรณีสมมติฐานทั้งช่วงตรึงราคา และปล่อยลอยตัวหลังครบ 5 เดือนไว้แล้ว ก็ยังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในกรอบประมาณการที่ 0-3.5% ส่วนจีดีพีในปีนี้จะเติบโตได้ 4.5-6.0%
อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจอ่อนแอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ และส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะต่อไป จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นางสาวดวงมณี กล่าวว่า การที่ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐอยู่ในระดับสูง คงไม่ได้มีผลทำให้เงินไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นมากมายนัก เพราะปัจจุบันการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศมีหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญคือ ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ประกอบกับ ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ในระยะนี้ เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทด้วย
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงระยะ 12 เดือนติดลบ 1% ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค ดังนั้น การที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและนอกประเทศสูงที่คงไม่ใช่สาเหตุที่เงินไหลเข้ามามาก
นางสาวดวงมณี กล่าวว่า ธปท.ไม่ห่วงการแข็งค่าของเงินบาทถ้ามีปัจจัยและเหตุผลรองรับ และหากไม่ใช่แข็งค่าการเก็งกำไร ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้เป็นผลจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทุน ประกอบกับไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูวง มากกว่าปัจจัยเรื่องเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
สำหรับแนวทางที่จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% นั้น กนง.ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยพิจารณาความเหมาะสมอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเงินทุนเคลื่อนย้าย นอกจากนั้น แต่ปัจจัยหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภายนอกประเทศ
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวอีกว่า การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการพิจารณาตามปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจจริง ๆ ดดยเพาะราคาน้ำมันที่น่าจะอยู่ในสมมติฐาน 86 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า และยืนยันว่าฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของ กนง. แม้ว่าก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะเคยออกมาระบุว่าควรมีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นภายใต้หน้าที่ แต่ไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ มา ยังธปท.
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--