นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินตัวเลขล่าสุดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 มีแนวโน้มจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.9% เนื่องจากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนไม่ได้ขยายตัวตามที่คาด โดยแนวโน้มการส่งออกช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ลดลง -2.7% หากจะทำให้การส่งออกทั้งปีได้ตามเป้าที่คาดไว้ที่ -1% การส่งออกในไตรมาส 4 จะต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ส่วนจะมีผลให้เศรษฐกิจทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่ 2.8% หรือไม่ จะต้องขอดูภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 4 อีกครั้ง
"ตามประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 จะดีกว่าไตรมาส 3/2562 โดยได้อานิสงส์จากมาตรการรัฐ ทั้งบัตรสวัสดิการและมาตรการชิมช้อปใช้ ทำให้ในภาพรวมการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และมองว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจากการตัดสิทธิจีเอสพี ทำให้คาดว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 4/2562 มีโอกาสที่จะเร่งตัวขึ้นได้" นายดอน กล่าว
ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยนั้น นายดอน กล่าวว่า ไม่ได้มีผลต่อการส่งออกในภาพรวมมากนัก โดยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.5% ของมูลค่าส่งออกโดยรวม จากการวิเคราะห์ของกระทรวงพาณิชย์และธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าหากมีการขึ้นภาษีโดยเฉลี่ย 5% จะกระทบการส่งออกไทยในปีนี้ลดลง 0.01% เท่านั้น ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอาหาร
นายดอกน กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงว่า เป็นตามไปตามคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และไม่ได้เซอร์ไพร์สตลาด โดย ธปท.ไม่ขอให้ความเห็นกรณีเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะใกล้ช่วงประชุม กนง.จึงกังวลว่าอาจจะเป็นการชี้นำตลาด