ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในการประชุมวันที่ 6 พ.ย.62 แต่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งที่ 25 bps ในการประชุมเดือน ธ.ค.เป็นต้นไป โดย EIC มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งล่าสุดรอบนี้จะไม่เป็นแรงกดดันที่ทำให้ กนง. ต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากการลดดอกเบี้ยของเฟดเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดและของ กนง. สะท้อนจากรายงานนโยบายการเงินไตรมาส 3/62
สำหรับช่วงเวลาที่ กนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น EIC มองว่าจะเป็นช่วงเดือน ธ.ค.เป็นต้นไป เนื่องจาก กนง.จะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่จะออกมาเพิ่มเติมในเดือน พ.ย.นี้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตามองคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 3 ที่จะออกในวันที่ 18 พ.ย.62 ตัวเลข MPI ที่จะออกในวันที่ 19 พ.ย.และตัวเลขการส่งออกที่จะออกในวันที่ 21 พ.ย.หากเศรษฐกิจไทยยังคงส่งสัญญาณแย่ลงกว่าที่ กนง.คาดไว้ ก็อาจทำให้ กนง. ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม
นอกจากนี้ อีกปัจจัยเสริม คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 5.0% ในเดือน ต.ค.หรือธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 4.0% ในเดือน ก.ย.เป็นต้น
SCB EIC ระบุว่า ในการประชุมเดือน ต.ค.62 ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps จากกรอบ 2.00-1.75% มาอยู่ที่ 1.75-1.50% เป็นไปตามที่ตลาดคาด ส่งผลดีต่อตลาดการเงิน โดยภายหลังการประชุมเฟดแล้วเสร็จในวันที่ 30 ต.ค.62 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.3% ขณะที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงบ่ายวันที่ 31 ต.ค.อ่อนค่าลง -0.3% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปี ปรับลดลง 3 bps มาอยู่ที่ 1.54% ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับลดลง 5 bps มาอยู่ที่ 1.78% สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงบ่ายวันที่ 31 ต.ค.ยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวจากราคาปิดเมื่อวานที่ 30.2 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้เนื่องจากความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจปรับลดลงจากทั้งสงครามการค้าและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่อังกฤษจะออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (Brexit) ลดความรุนแรงลงและผลของนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินไปจะทยอยส่งผ่านสู่ภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป
1. เฟดประเมินว่าทั้งสงครามการค้าและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ Brexit ลดความรุนแรงลง โดยสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีพัฒนาการดีขึ้นนับจากการประชุมครั้งก่อน จากที่มีการประกาศเลื่อนการขึ้นอัตราภาษีต่อสินค้าจีนอีก 5 percentage point มูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปและมีโอกาสที่จะมีการเจรจา partial deal ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.นี้ สำหรับสถานการณ์ Brexit นั้น มีพัฒนาการดีขึ้นเช่นกัน จากที่สหภาพยุโรป (EU) ได้เลื่อน deadline Brexit ออกไปเป็นไปวันที่ 31 ม.ค.63 และล่าสุดทางสภาอังกฤษได้มีประกาศวันเลือกตั้งในวันที่ 12 ธ.ค.62 ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจึงอาจลดลงได้ในระยะสั้น
2. ถ้อยคำแถลงของนาย Jerome Powell ประธานเฟดส่งสัญญาณสิ้นสุดการการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงกลางวัฏจักร (mid-cycle adjustment) โดยถ้อยคำที่ว่า "act as appropriate to sustain the expansion" ซึ่งสะท้อนว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจได้ถูกตัดออกไปจากรายงาน (press release) และถูกแทนด้วยเนื้อความที่ว่าเฟดจะประเมินตัวเลขเศรษฐกิจ (monitor the implications of incoming information) เพื่อดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ นาย Powell ยังกล่าวอีกว่าการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันนั้นเหมาะสมและอาจเพียงพอแล้ว (monetary policy is in a good place) และผลของการลดอัตราดอกเบี้ยถึง 75 bps ในปีนี้จะทยอยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป
อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่า เฟดอาจจะลดดอกเบี้ยอีกได้ในปี 63 หากสงครามการค้ากลับมาทวีความรุนแรง หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับแย่กว่าที่เฟดประเมินไว้ในการประชุมรอบนี้ซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจที่เฟดเผยแพร่ทุก 2 รอบการประชุม โดยตัวเลขใหม่จะเผยแพร่ในการประชุมรอบต่อไป