รัฐบาล KICK OFF จ่ายประกันรายได้ชาวสวนยางงวดแรกทั่วประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2019 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, การยางแห่งประเทศไทย (กยท.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ร่วมกันชี้แจงการจ่ายเงินวันแรกในโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่มีการจ่ายเงินส่วนต่างไปถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางทุกคนตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล โดยนโยบายประกันรายได้ไม่ใช่นโยบายประกันราคา

"หลายคนยังเข้าใจสับสน ที่บอกว่าไม่ใช่เพราะว่าราคานั้นประกันไม่ได้ เพราะมันจะขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก WTO ราคาจึงต้องเป็นไปตามกลไกตลาด นั่นก็คือขึ้นอยู่กับผลผลิต ถ้าผลผลิตมากความต้องการใช้น้อยราคาก็ต่ำ ถ้าผลผลิตน้อยความต้องการใช้มากราคาก็สูงขึ้นอดีต" นายจุรินทร์ กล่าว

ก่อนหน้าที่จะมีรัฐบาลนี้ เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้ทางเดียวคือรายได้จากการขายยางตามราคาตลาด ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเพราะราคายางทั่วโลกตกต่ำและมีผลกระทบกับประเทศไทยด้วย ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้น้อยลง ตรงนี้จึงเป็นที่มาของนโยบายรัฐบาลชุดนี้ที่ได้จัดให้มาโครงการประกันรายได้ขึ้นมา จากนี้ไปเกษตรกรจะมีรายได้ทางที่สองด้วยก็คือรายได้จากเงินส่วนต่างที่รัฐบาลนี้จะจ่ายให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศ ในหนึ่งปีฤดูกาลผลิตเราจะโอนให้ทุกสองเดือน และจะดำเนินการไปเรื่อยๆ ตลอดอายุของรัฐบาล

การคำนวณประกันรายได้ให้เอารายได้ที่ประกันเป็นตัวตั้ง รัฐบาลชุดนี้ประกันรายได้ยางแผ่นดิบคุณภาพดีที่กิโลกรัมละ 60 บาท และน้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วยที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยยางแผนดิบที่กิโลกรัมละ 60 บาทเป็นตัวตั้งแล้วเอาราคาตลาดเป็นตัวลบ รัฐบาลประกันรายได้ให้ชาวสวนยางหัวละไม่เกิน 25 ไร่ ขึ้นอยู่กับผลผลิตของเกษตรกรว่าได้กี่กิโลกรัม และจะเป็นเงินส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับ

"ถ้าพี่น้องผลิตยางแผ่นดิบชั้นสามประกันรายได้กิโลละ 60 บาท ถ้าพี่น้องมีสวนยาง 25 ไร่พอดี พี่น้องจะได้รับเงินส่วนต่าง 10,515 บาท และในหนึ่งฤดูกาลผลิตจะโอนให้ทุกสองเดือนโดยเงินงวดต่อไป 10,515 บาท สวนยางก้อนถ้วยกรณี 25 ไร่ ได้รับ 6,810 บาท และรัฐบาลจะโอนให้ทุกสองเดือนโดยงวดแรกคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 งวดต่อไปวันที่ 1 มกราคม 2563 และงวดต่อไปงวดที่ 3 วันที่ 1 มีนาคม 2563 และดำเนินการไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่จะมีรัฐบาลชุดนี้" นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ถือว่าโยบายประกันรายได้ชาวสวนยางเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นคำมั่นสัญญาต่อพี่น้องประชาชนชาวสวนยางทั้งประเทศไว้แล้ว เราใช้เวลาแค่ 98 วันก็โอนเงินส่วนต่างได้ทำได้ไวและทำได้จริง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า พร้อมๆ ไปกับมาตรการนี้จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่ต้องพึ่งพาต้นยางในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้ปลูกพืชอื่นแซม และการส่งเสริมเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น โดยให้มีการลงทุนอุตสาหกรรมยางเพื่อมาผลิต ผลิตผลในประเทศมากขึ้น อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีข่าวดีที่ภาคตะวันออก คือจะมีการตั้งโรงงานขยายการผลิตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท จะทำยางพาราจะใช้ยางในประเทศมากขึ้น ขายดียิ่งขึ้น

สำหรับภาคราชการจากนี้ไป กยท.จะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อรายงานให้รัฐมนตรีทราบว่า ที่เคยสัญญาว่าจะนำยางไปทำถนนไปทำสนามกีฬานั้นได้ทำไปแล้วมากน้อยอย่างไร เพื่อกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศ เราจะได้ราคายางที่ดีขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ กำลังดำเนินการที่จะทำอย่างไรให้ยางไทยส่งออกไปตลาดต่างประเทศมากขึ้น

"ผมไปอินเดียมาเมื่อไม่กี่วันก่อน เราสามารถพานักลงทุนไปเปิดตลาดยางที่อินเดียได้สำเร็จขายยางได้ 100,000 ตัน นำเงินเข้าประเทศ 9,000 กว่าล้านบาท จากนี้ไปอีกไม่กี่วันกลางเดือนพฤศจิกายนหลังประชุมอาเซียน ผมขออนุญาตท่านเฉลิมชัยไปบุกตลาดยางที่ตุรกีและเยอรมัน และมั่นใจว่าจะมีข่าวดีให้กับพี่น้อง สุดท้ายนี้มั่นใจว่าการสั่งการของท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัยบวกการยางฯ อีกไม่กี่วันข้างหน้าเราจะมีข่าวดีให้เกษตรกรชาวสวนยาง เราจะขายยางในปริมาณที่มากมายทีเดียว จะแถลงข่าวให้ทราบเมื่อได้เซ็นสัญญาไม่เกินกลางเดือน" นายจุรินทร์ กล่าว

ด้านนายเฉลิมชัย กล่าวว่า การดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือนตั้งแต่ตุลาคม 2562 ถึงมีนาคม 2563 โดยให้ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง 3 งวด ได้แก่ 1) ประกันรายได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 จ่ายงวดที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 - 15 พฤศจิกายน 2562 2) ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562 - มกราคม 2563 จ่ายงวดที่สอง ระหว่างวันที่ 1 - 15 มกราคม 2563 และ 3) ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2563 จ่ายงวดที่สาม ระหว่างวันที่ 1 - 15 มีนาคม 2563 โดยค่าบริหารโครงการวงเงิน 234 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนพัฒนายางพารา

ทั้งนี้ ค่าประกันรายได้คำนวณจากราคายางที่ประกันรายได้ ลบราคากลางอ้างอิงการขาย แล้วคูณด้วยปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง เป็นค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน โดยจะจ่ายเงินประกันชดเชยรายได้ส่วนต่างจากการขายยางพารา 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง เข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง ผ่าน ธ.ก.ส. แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนยาง 60% และคนกรีดยาง 40% ซึ่งในวันนี้ (1 พฤศจิกายน 2562) เป็นวันแรกที่มีการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร จึงมั่นใจได้ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยางได้ตามหลักการ "ทำได้เร็ว ทำได้จริง" ตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เริ่มจ่ายในงวดแรก จำนวนกว่า 8 พันล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป เบื้องต้นมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. จำนวน 1,711,252 ราย แบ่งเป็นยางแผ่นดิบ 150,803 ราย น้ำยางสด 470,767 ราย และยางก้อนถ้วย 790,447 ราย คิดเป็นพื้นที่รวม 17,201,391 ไร่

สำหรับเงินประกันรายได้ในแต่ละเดือน จะถูกแบ่งระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางในสัดส่วน 60:40 (ตามสัดส่วนการจ้างส่วนใหญ่ของข้อมูลขึ้นทะเบียน) โดยราคากลางจะกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิงงวดแรก (ประกาศ ณ วันที่ 25 ต.ค.62) กำหนดราคายางแผ่นดิบ 38.97 บาท/กก. น้ำยางสด 37.72 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 16.19 บาท/กก.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ