นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย(Issuer CreditRating) จากระดับ BBB+ เป็น A- และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ระดับเสถียรภาพ (StableOutlook)
ทั้งนี้ R&I ได้ให้เหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือว่ามาจากปัจจัยหลัก 4 เรื่องกล่าวคือ
1. รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการเชิงรุกในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งมีการดำเนินการในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)
2. การเกินดุลการค้าและดุลบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุหลักจากรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งจึงทำให้ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องและมีระดับเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ ดังนั้น ประเด็นเรื่องสภาพคล่องในสกุลเงินตราต่างประเทศจึงไม่น่ากังวล
3. การมีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังทำให้การบริหารจัดการด้านการคลังมีประสิทธิภาพและมีรูปธรรมชัดเจนขึ้นโดยมีการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนและเนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ดังนั้นจึงไม่มีความน่ากังวลทั้งในประเด็นด้านความสามารถในการระดมทุนและความเสี่ยงทางการคลัง
4. ด้านการเมืองของประเทศไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น จากการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและสามารถดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยR&I ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมืองโครงสร้างของการกระจายรายได้ระหว่างเขตเมืองและชนบทรวมทั้งสภาพแวดล้อมทางการเมืองอื่นๆที่จะสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคตต่อไป
"ในปี 62 ประเทศไทยได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Moody’s และ Fitch Rating ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ให้กับประเทศไทย จากระดับ "เสถียรภาพ (Stable Outlook)" เป็น "เชิงบวก (Positive Outlook)" ซึ่งการได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกทั้งยังจะช่วยให้การระดมทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลและเอกชนไทยมีต้นทุนที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย" นางแพตริเซีย กล่าว