นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) อนุมัติมาตรการส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSME) ส่วนรายละเอียดให้รอการแถลงภายหลัง ส่วนการต่อขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 พ.ย.นี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการครม.เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมครบวงจร รวม 7 ด้าน 13 มาตรการ (มาตรการ MSME 2020) ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ เพื่อสนับสนุน SME รายย่อย และแก้ 5 ปัญหาสำคัญของ SME ทั้งปัญหาแหล่งเงินทุน ความรู้/ทักษะ/การบริหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และฟื้นฟูกิจการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกรอบแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจฯ ทั้ง 7 ด้าน รวม 13 มาตรการ มีดังนี้ ด้านการส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประกอบด้วยมาตรการ 1. การปรับสถานะกองทุนภาครัฐที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับ MSME ให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Fund) 2. การเพิ่มรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SME (Direct Approach / Direct Guarantee) โดยในระยะเริ่มต้นให้ดำเนินการในวงเงินจำกัดไม่เกิน 1,500 ล้านบาท โดยทดลองการดำเนินการกับลูกค้าเดิมของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมรายย่อย (บสย.) โดยสถาบันการเงินต้องร่วมกันรับความเสี่ยงในอัตราที่เหมาะสมไม่เกิน 5-10 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
3. สินเชื่อระยะสั้น – กลาง สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พิจารณาหาแนวทางในการจัดให้มีสินเชื่อระยะสั้น-กลางเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ระยเวลาดำเนินการ 6 เดือน
ด้านการพัฒนาระบบการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ประกอบด้วยมาตรการ 4. พัฒนาระบบการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (SME Academy 365) โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น OKMD ดำเนินโครงการ SME Academy 365 เพื่อให้บริการองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SMEs อย่างเป็นระบบทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ วงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
5. การส่งเสริมการจัดทำบัญชีของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจรายย่อย 5.1) การสนับสนุนให้ MSME ใช้ซอฟต์แวร์/แอพพลิเคชันในการจัดทำบัญชี 5.2) การสร้างนักบัญชีชุมชนและการจัดทำมาตรฐานบัญชีสำหรับวิสาหกิจชุมชน
ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ ได้แก่ มาตรการ 6. Voucher การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับวิสาหกิจรายย่อย/วิสาหกิจชุมชน เพื่อโอกาสทางการตลาดมากขึ้น และให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินการจัดทำระเบียบเพื่อรองรับการสนับสนุนหรืออุดหนุนผู้ประกอบการด้วยระบบเงินสนับสนุน (Voucher) งบประมาณ 30 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
ด้านการส่งเสริมด้านการตลาด ประกอบด้วยมาตรการ 7. พัฒนากลไกกลางในการพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ SME โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินการจัดงาน SME FEST ระดับประเทศและสัญจรในภูมิภาค งบประมาณ 15 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
8. มหกรรมการจำหน่ายสินค้า SME (SME FEST) เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ SME และกระจายรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนทั่วประเทศผ่านการจัดงาน SME FEST ระดับประเทศและสัญจรในภูมิภาค งบประมาณ 40 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
ด้านการฟื้นฟูธุรกิจผู้ประกอบการ MSME ประกอบด้วยมาตรการ 9. MSME ล้มแล้วลุก 10. การลดอุปสรรคในการฟื้นฟูธุรกิจ โดยมอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่วประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาจัดตั้งหน่วยงานกลางทำหน้าที่แก้ไขปัญหา SME ที่เป็นหนี้เสียของสถาบันการเงิน เช่น ศูนย์ฟื้นฟูกิจการ SME การจัดตั้ง AMC : Asset Management Company รวมทั้งศึกษากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูธุรกิจของ MSME ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน
ด้านการประเมินศักยภาพและฐานข้อมูล SME Big Data ได้แก่ 11. มาตรการพัฒนาระบบการประเมินศักยภาพ MSME (SME Scoring) และฐานข้อมูล SME Big Data โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลศักยภาพ SME (SME Scoring) เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ฐานข้อมูล SME Big Data งบประมาณ 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
ด้านการพัฒนาระบบการสนับสนุนส่งเสริม SME ให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ 12. มาตรการการพัฒนาระบบให้เอกชนสามารถเป็นหน่วยงานในการให้การส่งเสริม MSME (Business Development Service: BDS) โดยมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ SME งบประมาณ 80 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ได้แก่ 13. มาตรการต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการมาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมพลาสติก ฟอกหนัง และเกษตรแปรรูป งบประมาณ 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 24 เดือน