ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.50% เหลือ 1.25% ในการประชุมรอบนี้วันที่ 6 พ.ย.เนื่องจากพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังบ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอลงเทียบกับช่วงการประชุมนโยบายการเงินในครั้งก่อน
โดยการชะลอลงในภาคการส่งออกได้ส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงชัดเจนขึ้น อันสะท้อนผ่านการผลิตที่หดตัว 5 เดือนติดต่อกันและเริ่มลุกลามไปสู่ภาคการจ้างงาน โดยเฉพาะจำนวนผู้มีงานทำนอกภาคการเกษตรของไทยที่ปรับลดลงติดต่อกันกว่า 3 เดือน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือน มากขึ้นในระยะข้างหน้า
ขณะที่ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค.62 ที่ขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีโดยขยายตัวเพียง 0.11% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 0.74 % YoY อาจบ่งชี้ถึงความสามารถของผู้ประกอบการในการตั้งราคาสินค้าที่ถดถอยลง อันสะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเติบโตการบริโภคในระยะข้างหน้าเช่นกัน
นอกจากนี้ ผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกือบ 8.0% YTD จากช่วงปลายปี 62 เป็นอีกปัจจัยที่กดดันการส่งออก ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยบรรเทาต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการภาคส่งออก แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้มากนัก
ขณะที่ผลของมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) อันสะท้อนผ่านยอดการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไปที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก อันช่วยลดพฤติกรรมการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไปของสถาบันการเงิน ตลอดจน ลดความเปราะบางของจากการเป็นหนี้ที่สูงของภาคครัวเรือนไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวคงช่วยให้ให้การดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวทำได้ดีขึ้น อันเปิดโอกาสให้ กนง. สามารถที่จะใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยเสียงเชิงเสถียรภาพยังสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด
สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินไทยในปี 2563 คงอยู่ที่พัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงจากประเด็นทางการค้าและทิศทางของพัฒนาการเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ แม้ว่าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจน ประเด็น Brexit จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่คงไม่ได้เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากประเด็นค่าเงินบาทที่แข็งค่า ผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ส่งผ่านมายังการจ้างงานและกำลังซื้อของครัวเรือนในประเทศ ซึ่งประเด็นข้างต้น กนง. คงจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. ยังคงมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำสุดก็ตาม