นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit 2019) หรือ ABIS ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานสำคัญของการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit)
"ภาคเอกชนถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเวทีประชุมสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจอาเซียน หรือ ABIS 2019 ในครั้งนี้ จึงถือเป็นเวทีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับความร่วมมือ และแสดงให้เห็นถึงการเป็นภูมิภาคที่โดดเด่น เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของอาเซียน" นายอรินทร์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Empowering ASEAN 4.0 มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล สอดคล้องกับแนวคิดหลักของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ร่วมสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการดำเนินการของประชาคมอาเซียนในปี 62 ประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 2.การสร้างความเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการค้า การลงทุนในอาเซียน 3.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดความสามารถใหม่ และลดปัญหาการว่างงานในอาเซียน และ 4.ผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนวัตกรรมและเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
สำหรับการประชุม ABIS 2019 ตลอดทั้ง 2 วัน มีหัวข้อสัมมนาสำคัญที่ครอบคลุมประเด็นท้าทายของ ASEAN 4.0 รวมทั้งหมด 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การส่งเสริมอาเซียนก้าวสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก 2.การสร้างเศรษฐกิจอาเซียนสู่ความยั่งยืน โดยอาศัยแนวคิด "เศรษฐกิจหมุนเวียน" 3.การสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการในอาเซียน (MSME) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน 4.การปรับเปลี่ยนธุรกิจในอาเซียนเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล 5.การสร้างเสริมสมรรถนะของทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดความสามารถใหม่ และลดปัญหาการว่างงานอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และ 6.การเสริมสร้างเครือข่ายความเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการ MSME
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การประชุม ABIS ในภาคการเงินการธนาคารนี้ ได้มองโจทย์ความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อยในยุคแห่งอนาคต ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตและการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว
กลยุทธ์สำคัญในการรับมือปัญหาดังกล่าว คือ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบนิเวศทางการเงินในภูมิภาค และส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อย ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น
"เชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดทำเครื่องมือด้านการเงินในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR ได้ช่วยการทำธุรกรรมทางด้านการเงินให้สะดวก มีต้นทุนถูกลง และช่วยให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารก้าวไปสู่การให้สินเชื่อที่ดูจากฐานข้อมูลเป็นหลักมากขึ้น เช่น AI และ Big Data ทำให้เกิดสินเชื่อ และผู้ให้สินเชื่อในรูปแบบใหม่ การระดมทุนในรูปแบบ crowd funding และการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล ผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ผ่านตัวกลาง หรือ P2P เป็นต้น" นายปรีดีกล่าว
พร้อมระบุว่า นวัดกรรทางการเงินใหม่ๆ เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการบริการทางการเงินใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมในอาเซียนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคแห่งอนาคตได้เพิ่มมากขึ้น การใช้ประโยชน์จากโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลที่จะทำให้การค้าภายในภูมิภาคอาเซียนเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด