นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวในการเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจอาเซียน (ABIS 2019) ว่า ขอชื่นชมภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประชาคมอาเซียนไปสู่ยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัล ซึ่งนับว่าเป็นวาระสำคัญและมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็วที่ส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา และทำให้การติดต่อสื่อสารสามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตลอดจนทำให้ AI และหุ่นยนต์ก้าวเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมนี้ ยังส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้า การบริการ การบริโภค และการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และในทางกลับกัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ส่งผลให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันต้องทยอยปิดตัวลงในทุกภูมิภาคของโลก
นายจุรินทร์ กล่าวว่า หากพิจารณาในภูมิภาคอาเซียนจะพบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018 มีมูลค่าสูงถึง 72,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีมูลค่าเพียง 50,000 ล้านดอลลาร์ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล คือ การขยายตัวของชนชั้นกลาง การเพิ่มขึ้นของประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ต รวมทั้งการปรับตัวของ SMEs ในภูมิภาคที่หันมาใช้ดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
"การที่เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนมีสัดส่วนเพียง 7% ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น สหรัฐ มีสัดส่วนถึง 35% สหภาพยุโรป 27% และจีน 16% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนแม้จะมีสัดส่วนน้อย แต่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่งจากผลการศึกษาของบริษัทชั้นนำของโลก เช่น กูเกิล และเทมาเส็ก โฮลดิ้ง พบว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีก 3 เท่าตัว หรือมีมูลค่าสูงถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์กล่าว
พร้อมระบุว่า อาเซียนได้ตระหนักถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเทคโนโลยีทางดิจิทัลที่จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก จึงได้มีการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนในหลายประเด็น เช่น 1. มุ่งเน้นการจัดทำความตกลงด้านเศรษฐกิจ ด้าน E-Commerce ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน 2.การจัดทำกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า การคุ้มครองข้อมูล การพัฒนาระบบการชำระเงิน การพัฒนาทักษะของบุคลากร และการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาธุรกิจ
และ 3.การจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ และผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรองรับกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งภาคเอกชนโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนได้มีบทบาทนำในการจัดทำแนวทางดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานให้รองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตผ่านการ reskill และ upskill
"ความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ได้ ABIS มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของอาเซียน และเชื่อมั่นว่าภายใต้ความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างเอกชนกับรัฐนี้ จะทำให้ประโยชน์ที่อาเซียนได้รับถึงมือผู้ประกอบการและภาคเอกชนโดยรวม ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปในที่สุด" นายจุรินทร์กล่าว