นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวสรุปภาพรวมการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit 2019) ในระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย.62 ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ภายใต้แนวคิด Empowering ASEAN 4.0 ในการเตรียมความพร้อมให้ประเทศสมาชิกรับมือกับความท้าทายใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องตระหนักและปรับตัวในภาวะที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบ โดยต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกผันนี้ และนำมาสร้างประโยชน์ต่อประชาคมอาเซียนให้มากที่สุด
อาเซียนต้องเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตใน 3 ด้าน คือ ด้านความก้าวหน้าของดิจิทัลเทคโนโลยี, การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก และการสื่อสารภายในอาเซียน ซึ่งทั้งหมดนี้หากเกิดความเชื่อมโยงที่คล่องตัวจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่ออาเซียน
การนำเทคโนโลยีมาใช้มี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การนำฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ ระบบคมนาคมมาใช้ร่วมกับการให้บริการทางดิจิทัล เพื่อทำให้เกิดอุตสาหกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ 2.การมีโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานที่ดี เพื่อสนับสนุนในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ระบบ 5G, ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในภาคอุตสาหกรรม และ 3.การกระจายการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้มีส่วนช่วยในกระบวนการพัฒนาธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกันถึง ASEAN Digital Transformation Technogoly ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ กระบวนการนำข้อมูลมาใช้อย่างชาญฉลาด โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน การเชื่อมโยงเป็นรากฐานสำคัญในการเข้าถึงบริการทางการเงิน การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มีความเสถียร และราคาไม่แพง
"อยากเรียกร้องให้มีความร่วมมือกันในระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐของแต่ละประเทศ พยายามสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการดูแล หรือพื้นที่ที่ด้อยโอกาส และปฏิรูปกฎระเบียบที่เกี่ยวกับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์" นายอรินทร์ระบุ
พร้อมระบุว่า จากการที่อาเซียนมีมูลค่าของธุรกรรมการชำระเงินในระบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น การสร้างความเชื่อมโยงของระบบชำระเงินดิจิทัลในอาเซียน ควรได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการค้าในนระบบดิจิทัลระดับภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกในห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดน
นายอรินทร์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเข้าสู่ในยุค 4.0 โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และองค์กรอิสระในการสนับสนุนทางการเงิน และเทคโนโลยี
"Legacy Project ของเราที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรในยุค 4.0 อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มากขึ้น ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต้องมุ่งเน้นการเสริมสร้างสมรรถนะของทรัพยากรมนุษย์ ให้รองรับการกระจายตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานในอาเซียนให้เหมาะสมกับตลาดแรงงานในอนาคต" นายอรินทร์กล่าว
ขณะที่นายกรัฐมนตรีประเทศรัสเซีย ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งดูจากประชากรในรัสเซียที่มีอัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากเป็นอันดับ 5 ของโลก สามารถสร้างช่องทางและโอกาสในการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งรัสเซียพร้อมจะให้ความร่วมมือกับอาเซียนในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมให้อาเซียนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ดี รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจอาเซียนในครั้งหน้า หรือปี 2020 จะมีการส่งมอบตำแหน่งประธานการประชุมให้แก่ประเทศเวียดนามได้เป็นเจ้าภาพต่อไป