นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับนายชินโซ อาเบะ (Mr. Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยในรอบ 6 ปี และยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่นบรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยง พร้อมหวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ ASEAN Outlook on Indo-Pacific โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะทะเล
นายกรัฐมนตรียังขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในการจัดทำเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่างๆ ของการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง G20 Principles on Quality Infrastructure Investment ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง เพื่อสอดประสานข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่สามารถผลักดันให้บรรลุผลการประชุมที่สำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาคด้วย
นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างยินดีต่อความร่วมมือในการส่งเสริม SMEs และ Startups โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และ Startups ของไทยและญี่ปุ่น จำนวน 6 ฉบับ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการจัดตั้ง Startups ที่มีนวัตกรรมของรัฐบาลไทยภายใต้โครงการ Innospace (Thailand)
รวมทั้งความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศที่สาม ซึ่งมีการลงนามบันทึกช่วยจำว่าด้วยกรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ระยะที่สาม (Memorandum on Japan-Thailand Partnership Programme Phase 3) เมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 เพื่อต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่ในด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่ 3 โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน โดยใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยและญี่ปุ่น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นความร่วมมือในภูมิภาคสำคัญ เช่น ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนและกรอบ G20 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และกรอบลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ก่อนจบการหารือนายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกใน ปี 2563