นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าต่อยอดความรู้ให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการอย่างเร่งด่วน โดยร่วมมือกับ 2 พันธมิตรคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "ลูกค้าติด ธุรกิจโต Go Online" ใน 5 จังหวัดนำร่องที่เป็นเมืองรอง ได้แก่ ชุมพร (21 พ.ย.62) อุตรดิตถ์ (28 พ.ย.62) หนองคาย (12 ธ.ค.62) ชัยภูมิ (19 ธ.ค.62) และนนทบุรี (23 ธ.ค.62) ตั้งเป้าหมายพัฒนาธุรกิจบริการให้ได้กว่า 300 ราย โดยจะชี้โอกาสของธุรกิจบริการเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และเทคนิคการทำ Marketing Content การลงมือปฏิบัติจริง (Workshop) เพื่อนำบริการขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทันทีหลังจบหลักสูตร
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ผลสำเร็จที่จะได้รับจากการเข้าร่วมงานสัมมนาคือ การสร้างโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจที่มากขึ้นผ่านการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเปลี่ยนจากการรอลูกค้าเดินเข้าร้านแบบเดิมๆ เป็นการทำโปรโมชั่นดึงดูดใจลูกค้า หรือคูปองส่วนลดผ่านทาง e-Marketplace ที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้นประกอบกับรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค 5.0 โดยหลังจากนี้จะมีการคัดเลือกธุรกิจให้เหลือ 100 รายทั่วประเทศ เพื่อรับการบ่มเพาะเชิงลึกแบบ One on One Coaching ณ สถานประกอบการ รวมถึงการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการค้าให้เหมาะสมกับผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายต่อไป โดยผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดข้างต้นที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมงานสัมมนาฯ ได้ที่ www.dbd.go.th เลือกหัวข้อ ข่าวประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าในปี 2561 GDP ภาคบริการ มีมูลค่า 7.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43.5% ของ GDP ทั้งหมด มีจำนวนธุรกิจบริการ 1.2 ล้านราย คิดเป็น 40% ของจำนวนธุรกิจไทยทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออกบริการจำนวน 75,354 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภายในระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวถึง 12% ในขณะที่การส่งออกสินค้าไทย มีอัตราการขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น จะเห็นได้ว่า ภาคบริการมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า โดยภาพรวมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2561 ถือว่าเติบโตอย่างน่าสนใจ และขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 12% มีมูลค่า 3.2 พันล้านบาท เนื่องจากคนไทยมีการปรับพฤติกรรมในการสั่งสินค้าและบริการผ่านออนไลน์มากขึ้น โดย 90% เป็นการจับจ่ายผ่านทางโทรศัพท์มือถือและชำระเงินค่าสินค้าผ่านโมบายและอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซนี้เองจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนในการนำธุรกิจบริการขึ้นสู่โลกออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสการอยู่รอดในโลก Digital Disruption