สำหรับคำแนะนำของ IMF นั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมรับมาดำเนินการในทุกมิติ ส่วนนโยบายการเงินนั้นนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงาน และ IMF ไม่ได้พูดชัดเจนเรื่องปรับลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยยังมีช่องว่างที่สามารถจะปรับให้เหมาะสมเพื่อเกิดการพัฒนามากขึ้น
ส่วนในประเด็นปัญหาที่มีความท้าทาย ได้แก่ การพัฒนาด้านการศึกษา และการพัฒนาแรงงาน รัฐบาลไทยยืนยันว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาเหล่านี้ โดยระบุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีการตรวจสอบ ปรับปรุงทุก 5 ปี ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างมีความเป็นห่วงกังวล ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลไทยได้เตรียมมาตรการรองรับ ทั้งเรื่องลดขยะทางทะเล ลดปริมาณขยะพลาสติก ปัญหาสิ่งแวดล้อม
โดยนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่าในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้ยืนยันชัดเจนที่จะลดการใช้พลังงานหลัก เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเผาไหม้ก๊าซ CO2 ลดการใช้ขยะ และลดขยะในทะเล
นางนฤมล กล่าวว่า กรรมการผู้จัดการ IMF ยังกล่าวถึงความสนใจเรื่องแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง IMF จะนำไปเผยแพร่ทั่วโลกเพราะสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นางคริสตาลีนา ได้กล่าวแสดงความยินดีความสำเร็จการจัดการประชุดสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องของไทย พร้อมชื่นชมบทบาทในเวทีระหว่างประเทศที่มีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายในโลกปัจจุบันได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองประเด็นที่ชื่นชมมาก คือมีการหารือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีเสถียรภาพ จึงส่งผลดีต่อการพัฒนาสำคัญทางเศรษฐกิจ