น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS)ตามที่ รมว.คลังได้ลงนามแล้ว และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป
รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำและมอบสัตยาบันสารหรือสารของพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ให้แก่เลขาธิการอาเซียน เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบพิธีสารและตารางข้อผู้พันดังกล่าวแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของร่างพิธีสารฯ ดังกล่าว มีดังนี้
1. ร่างพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับพิธีสารฯ ฉบับที่ 7 ที่ประเทศไทยได้ลงนามไปแล้ว กล่าวคือเป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันฯ แก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN)
รวมถึงการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF)ที่ระบุให้ประเทศสมาชิกตั้งแต่ 2 ประเทศหรือมากกว่านั้น อาจดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาการธนาคารของประเทศตน โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอาจสรุปผลการเจรจา ณ เวลาใดก็ได้
2. ตารางข้อผูกพันฯ ฉบับที่ 8 ของไทยที่แนบท้ายร่างพิธีสารฯ เป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯ ดังนี้
2.1 แก้ไขตารางข้อผูกพันฯใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาหลักทรัพย์และสาขาย่อยบริการจัดการลงทุน (Asset Management)เพื่อยกระดับข้อผูกพันให้เทียบเท่ากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ จะอนุญาตให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุน (Asset Management Company)ได้ถึง 100% ของทุนที่ชำระแล้ว โดยยกเลิกเงื่อนไขเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้ว ในระยะ 5 ปีแรก หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเท่ากับกฎหมายปัจจุบัน
2.2 ได้ระบุให้มีการเจรจาทวิภาคีเพื่อจัดตั้งQualified ASEAN Banks (QABs)ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งข้อผูกพันดังกล่าว เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซียเข้าสู่ตลาดระหว่างกันได้ บนหลักการต่างตอบแทน และให้มีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น