SCB EIC คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตุนกระสุนรองรับความเสี่ยงในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 7, 2019 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากผลของการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวน่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด และอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนั้น กนง.น่าจะต้องการรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

อนึ่ง วานนี้ (6 พ.ย.) กนง.มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.5% เป็น 1.25% หลังเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งในปี 62 และปี 63 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

กนง.ประเมินว่าภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเครื่องชี้ที่สะท้อนภาวะดังกล่าว คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำและอาวุธในเดือนกันยายนอยู่ที่ -3.3%YOY หดตัวติดต่อกัน 11 เดือน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ -4.2%YOY หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ -3.4%YOY หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้เช่นกัน

ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้นั้นได้รับผลกระทบจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ทำให้รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว -5.2%YOY ในเดือนกันยายน ส่วนรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางหดตัว -3.0%YOY ในเดือนเดียวกัน ในด้านการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานที่ลดลงเร็ว โดยสะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ที่ขยายตัวได้เพียง 1.4%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.5%YOY สำหรับความเสี่ยงด้านต่างประเทศ กนง.ยังคงแสดงความกังวลต่อสงครามการค้าและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ Brexit

ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งในปี 62 และปี 63 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 0.11% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกอยู่ที่ 0.74% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาจากราคาน้ำมันที่หดตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำโดยเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอยู่ที่ 0.53% จึงเป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1% ในปีนี้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 SCB EIC ประเมินว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ จากราคาน้ำมันที่อาจปรับลดลงได้อีกตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มลดต่ำลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศที่ปรับลดลง

สำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/62 ที่จะมีการประกาศในวันที่ 18 พ.ย.62 นี้ SCB EIC ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 2.7% YOY และ 0.1% QOQ sa (เทียบกับ 0.6% QOQ sa ในไตรมาส 2/62)

SCB EIC มองว่า ผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจมีจำกัด เนื่องจากช่องทางการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น และถึงแม้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงได้ แต่อาจไม่สามารถเพิ่มปริมาณการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้มากนัก เนื่องจากความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจไทย อีกทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อก็มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลงค่อนข้างมากในปีนี้ และสัดส่วนหนี้เสียที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs

นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้อาจช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ผลกระทบในระยะยาวน่าจะมีจำกัด เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ายังคงมีอยู่

ส่วนมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินนั้น SCB EIC ประเมินว่า ในระยะสั้นผลต่อเงินทุนไหลออกจะยังมีจำกัด เนื่องจากนักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรม home-bias คือเน้นลงทุนในประเทศ สะท้อนจากสัดส่วนสินทรัพย์ต่างประเทศต่อ GDP ที่ยังต่ำ อีกทั้งแนวโน้มเงินบาทที่จะยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง อาจทำให้นักลงทุนไม่มีแรงจูงใจในการถือครองสกุลเงินต่างประเทศ ดังนั้นแม้ ธปท.จะเปิดโอกาสให้ลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น แต่ก็อาจต้องใช้เวลาเพื่อให้มาตรการส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก เนื่องจากทั้งเศรษฐกิจไทยและโลกยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น อีกทั้งการเติบโตของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็ปรับลดลง จึงทำให้ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์อาจไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้นัก ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่มีสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าที่ควร (wealth effect) และในภาวะความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่สูง ประสิทธิภาพของการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีจำกัดส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน

นอกจากนี้ Policy space มีข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของวัฏจักรก่อนๆ กนง.สามารถลดได้ในอัตราที่ค่อนข้างมาก โดยค่าเฉลี่ยของการลดดอกเบี้ยในแต่ละวัฎจักรที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.875% ต่อวัฎจักร อย่างไรก็ดี ระดับอัตราดอกเบี้ยในวัฏจักรรอบนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ทำให้ กนง.จะไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้มากเท่าในอดีต โดยถึงแม้ กนง. จะลดดอกเบี้ยลงถึง 0% ซึ่งมีโอกาสต่ำมาก ก็ยังคงมีขนาดที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงจึงมีจำกัดมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ