นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.25% รวมทั้งการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาทว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในรอบนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ ซึ่ง ธปท.ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการรักษาเป้าหมายวินัยการเงินในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อเพื่อดูแลให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-4% หลังจากหลุดกรอบมาระยะหนึ่งแล้ว
"เมื่อเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศหลุดกรอบเป้าหมายมา 2-3 เดือนแล้ว ธปท.จึงรักษาวินัยการเงินที่ได้เคยประกาศไว้ คือการลดดอกเบี้ยเพื่อทำให้เงินเฟ้อดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งความคาดหวังที่ต้องการให้เศรษฐกิจปีหน้าปรับตัวดีขึ้นกว่า 3% นี่คือเจตนารมย์ของ ธปท. ดังนั้น การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กว่าที่นโยบายการเงินที่จะส่งผ่านไปถึงระบบเศรษฐกิจได้นั้นอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-9 เดือน ซึ่งต้องเสริมด้วยนโยบายการคลัง โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ทั้งการประกันรายได้เกษตรกร, กระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของประชาชน จากมาตรการชิมช็อปใช้ และกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เชื่อว่าจะเห็นผลว่ามีส่วนช่วยเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ของปี 63
ขณะที่ประเมินว่าทั้งปี 63 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในกรอบ 3.0-3.5%
"มาตรการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะปานกลาง เห็นบรรยากาศการผ่อนคลายในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ปีหน้า แต่ผลทางจิตวิทยาที่ ธปท.ลดดอกเบี้ย และมีมาตรการที่ช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทนั้น จะเป็นจิตวิทยาในเชิงบวก ถ้าบาทอยู่ที่ 30.30-30.50 บาท/ดอลลาร์ จะเอื้อต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลเป็นรูปธรรมได้เร็ว และอาจทำให้บรรยากาศความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้หรือเดือนหน้าดีขึ้นได้" นายธนวรรธน์ กล่าว