(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค.ที่ 70.7 ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 8 ต่ำสุดในรอบ 65 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 7, 2019 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค.62 อยู่ที่ 70.7 ลดลงจากเดือน ก.ย.62 ที่อยู่ในระดับ 72.2 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ต่ำสุดในรอบ 65 เดือน เนื่องจากมีความเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ต.ค.อยู่ที่ 57.9 ลดลงจากเดือน ก.ย.62 ที่อยู่ในระดับ 59.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 67.0 ลดลงจาก 68.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 87.3 ลดลงจาก 88.9 เช่นกัน

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ 1.กรณีที่สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 573 รายการ 2.กระทรวงการคลังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 62 เติบโต 2.8% และส่งออกติดลบ 2.5% ซึ่งลดลงจากที่เคยประเมินไว้ 3.การส่งออกไทย เดือน ก.ย.ลดลง 1.39% 4.ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 5.ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ 1.ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 62 ระยะที่ 2 ประกอบด้วย ชิมช้อปใช้เฟส 2, มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว, มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2.ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง 3.เงินบาทแข็งค่า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.62 อยู่ที่ระดับ 70.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก.ย.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 72.2 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.นี้ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลกับเสถียรภาพการเมืองทั้งปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก

ประกอบกับความกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน, ปัญหาการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยอีกกว่า 500 รายการในเดือนเม.ย.63 "ในช่วงที่สำรวจนั้น ยังเป็นช่วงที่ยังไม่ได้มีการอภิปรายงบประมาณปี 63 กลุ่มตัวอย่างจึงยังไม่มั่นใจว่างบฯ จะผ่านหรือไม่ผ่าน ขณะที่ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองลดลงต่ำสุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่ พ.ค.57 ทำให้มีความกังวลว่าการเมืองจะขาดเสถียรภาพ ไม่มั่นใจว่าจะทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายไปได้หรือไม่ ขณะที่ความกังวลด้านเศรษฐกิจ กรณี GSP ที่แม้จะไม่กระทบต่อการส่งออกไทยในปีนี้ แต่ก็สร้างผลกระทบด้านจิตวิทยาที่ทำให้กังวลต่อการส่งออกไทยในปีหน้า เป็นปัจจัยลบใหม่ที่กลุ่มตัวอย่างมองว่าอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต" นายธนวรรธน์ ระบุ พร้อมระบุว่า ความกังวลของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง นายธนวรรธน์ มองว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งในส่วนของการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย (ชิมช็อปใช้), การกระตุ้นการท่องเที่ยว, มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกรด้านการประกันรายได้ คาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) ราว 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโบายลง 0.25% และปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก ช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทลง, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่น่าจะมีการเจรจากันได้นั้น จะช่วยเอื้อต่อการดึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ "หวังว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีจุดวัดที่สำคัญในเดือนพ.ย. และธ.ค. เพราะถ้าความเชื่อมั่นไม่ฟื้น เศรษฐกิจจะมีอาการแผ่วแรง เรามองว่าไตรมาส 3 จีดีพีจะอยู่ที่ 2.6-2.8% ส่วนไตรมาส 4 เราคาดหวังว่าจีดีพีจะโตได้ 3.4-3.5% จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลช่วยออกมากระตุ้น ซึ่งทั้งปีนี้เรามีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 2.8% แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคถ้าไม่สามารถถูกดึงขึ้นได้ในช่วงปลายปี เศรษฐกิจไทยปีหน้าที่จะทำให้โต 3-3.5% ได้คงเหนื่อย" นายธนวรรธน์ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ