"พุทธิพงษ์"เผยรัฐบาลตั้งเป้า 60% ของ GDP ในปี 65 มาจากธุรกิจเกี่ยวข้อง Digital เร่งขับเคลื่อน 5G รองรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 7, 2019 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงาน Krungsri Business Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ Thailand Digital Roadmap ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรรวมทั้งสิ้นจำนวน 66.4 ล้านคน โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือคิดเป็น 187% ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศ และมีคนใช้ประโยชน์จาก Broadband ต่างๆ 108% และมีการใช้อินเทอร์เน็ต 80% โดยตัวเลขดังกล่าวบ่งบอกว่าคนไทยมีความพร้อมปรับตัวให้สอดรับกับดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจที่เกี่ยวกับธนาคาร หรือภาคการเงินอื่น ๆ ก็มีการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมาก่อนอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งหมด

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดนี้ก็มีความตั้งใจที่จะทำให้เป็น Digital Thailand โดยได้ประกาศว่าประเทศไทยพยายามที่จะก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีข้างหน้า 70% จะมาจากเรื่องของ Data driven Platform ซึ่งหมายถึงคนที่ทำธุรกิจ และให้ความสำคัญ หรือเป็นเจ้าของข้อมูลที่สำคัญ จะสามารถอยู่ได้อย่างแข็งแรง

แต่ในทางกลับกันหากหลายธุรกิจที่แข็งแรง แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของข้อมูล หรือการเก็บข้อมูลหรือการนำข้อมูลของลูกค้าไปวิเคราะห์และไปใช้ ก็จะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจนี้ หรืออยู่ในธุรกิจในอนาคตได้อีกต่อไป และ ในปี 65 ประมาณการว่า 60% ของ GDP ประเทศจะมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับ digital เป็นส่วนใหญ่

กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเกิดขึ้น แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาคธุรกิจ ซึ่งจะเห็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงาน บริษัท มีความสำคัญที่สุด รวมถึงในอนาคตก็จะเห็นการแลกเปลี่ยน ซื้อขายข้อมูลที่มีความสำคัญของลูกค้าเป็นจำนวนมาก, ภาคประชาชน สังคม จะเห็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล เป็นต้น, การทำวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรัฐก็พยายามจะปรับทุกอย่าง โดยในปี 63 ทุกหน่วยงานภาครัฐจะต้องใช้ Government Cloud เดียวกัน เพื่อในอนาคตจะใช้ในการวิเคราะห์ Analytics ต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะมุ่งเน้นใน 5 เรื่อง โดยมุ่งเป้าหมายไปที่คน 5 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการศึกษา, การสนับสนุนอยู่เคียงข้างฟินเทค, การรักษาพยาบาลที่ทันสมัย มั่นคง ถูกต้อง รวดเร็ว (เฮลท์เทค), เกษตรดิจิทัล และรัฐบาลดิจิทัล

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนา 5G ในประเทศไทย ภาครัฐได้มีการประกาศที่จะใช้ 5 G ให้ได้ในปี 63 เพื่อสามารถแข่งขันได้กับหลายๆ ประเทศที่จะมีการขับเคลื่อน 5G ในปีหน้าเช่นกัน ซี่งจะช่วยให้ไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

"ผมจะพยายามให้มีการเปิดประมูล 5G ให้ได้ในวันที่ 16 ก.พ.63 เนื่องจากว่ากว่าเราจะวางระบบ พัฒนา ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 เดือน ซึ่งหากเราสามารถขับเคลื่อน 5G ได้ เรายังสามารถสู้กับประเทศอื่นได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถเปิดประมูลได้ เราก็ต้องเลื่อนไปเป็นปี 64 ซึ่งจะกระทบกับการตัดสินใจการ relocate ต่างๆ"นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ขณะที่เรื่องของการออก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แน่นอนว่าต้องกระทบกับทุกภาคส่วน แต่สิ่งสำคัญที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องออกมา คือ เมื่อได้รับการยินยอมจากลูกค้าให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล หลังจากที่ลูกค้าได้ใช้บริการแล้วเสร็จ บริษัทยังคงมีข้อมูลของลูกค้าอยู่ เมื่อมีการเข้าไปตรวจสอบ บริษัทต้องตอบให้ได้ว่ามีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าอย่างไร และถ้าไปตรวจสอบและยังมีระบบการป้องกันข้อมูลของลูกค้าเป็นอย่างดี โดยไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ หรือไปขาย บริษัทก็สามารถทำธุรกิจได้ตามเดิม เป็นต้น

พร้อมกันนี้ เทรนด์ในอนาคต ประเทศสมาชิกใน EU ได้มีการหารือกันแล้วว่า การทำการค้าขายระหว่างประเทศ หากประเทศใดไม่มีกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็อาจจะไม่ทำธุรกิจกับประเทศนั้น เนื่องจากเกรงว่าคู่ค้าอาจนำข้อมูลไปให้คนอื่น หรือทำให้รั่วไหล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวให้เป็นสากล อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ก็อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก เพื่อนำไปใช้บังคับในพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ