ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเงินบาทหลังจากนี้จะมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังธปท.ปรับเกณฑ์เอื้อเงินทุนไหลออก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 8, 2019 10:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศ "ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท" เมื่อวันที่ 6 พ.ย.62 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปที่ 1.25% นั้น การดำเนินการทั้ง 2 ส่วนพร้อมกันดังกล่าว มีผลต่อจังหวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่เริ่มขยับอ่อนค่าเล็กน้อย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจต้องใช้เวลาอีกระยะ ในการติดตามผลของเกณฑ์ด้านเงินทุนไหลออกที่เปิดมากขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังขึ้นอยู่กับการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งผูกโยงกับบทสรุปของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และปัจจัยเชิงโครงสร้างจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

"การปรับเกณฑ์สนับสนุนให้เงินทุนไหลออกของ ธปท.รอบนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง จากมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่ ธปท.ได้ประกาศใช้เมื่อก.ค.62 ซึ่งการดำเนินการในรอบนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident: NR) และการยกระดับความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่การปรับปรุงเกณฑ์ 4 เรื่องหลักที่กำลังจะมีผลภายในวันที่ 8 พ.ย.นี้ จะมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก นักลงทุน และประชาชนทั่วไป" บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผ่อนเกณฑ์เงินทุนขาออกให้มีความเสรีมากขึ้นในครั้งนี้ อาจช่วยสร้างสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ในบางส่วน ผ่านการชะลอแรงซื้อเงินบาท (ชะลอแรงขายเงินดอลลาร์ฯ) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาทของผู้ส่งออกและผู้ค้าทองคำ และการกระตุ้นแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ (ขายเงินบาท) ตามธุรกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย หรือการโอนเงินออกนอกประเทศของคนไทย

"ทำให้ประเมินว่า ธปท. น่าจะยังติดตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย การปรับตัวของผู้ส่งออกในเรื่องวิธีการบริหารจัดการสภาพคล่องในรูปเงินตราต่างประเทศ การเลือกเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนพฤติกรรมและจังหวะการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป" บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับผลต่อทิศทางเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่เอื้อต่อเงินทุนขาออกในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ธปท.ได้เคยส่งสัญญาณไว้ในก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงเพียงในระดับหนึ่งในจังหวะที่ตอบรับต่อการปรับเกณฑ์ดังกล่าว ขณะที่ผลต่อการลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้านั้น มองว่าน่าจะยังขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งผูกโยงกับพัฒนาการในเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่จะมีผลต่อเนื่องต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในปีหน้า

"หากสหรัฐฯ และจีน สามารถหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับระหว่างกันได้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ การลดดอกเบี้ยของเฟด และสถานการณ์เงินดอลลาร์ฯ ก็น่าจะคลี่คลายลง และช่วยชะลอแรงกดดันต่อทิศทางค่าเงินบาท" บทวิเคราะห์ระบุ

ส่วนทิศทางของเงินบาทในระยะข้างหน้า ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท โดยเฉพาะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ ธปท.และทางการกำลังเร่งเดินหน้าก็คือ การกระตุ้นการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ลดการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด และท้ายที่สุดก็จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.น่าจะยังคงมีเครื่องมือและมาตรการที่จะเข้าไปดูแลเสถียรภาพของเงินบาทได้เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ซึ่งเมื่อประกอบกับมุมมองในเชิงบวกที่เพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เชื่อว่าเงินบาทน่าจะมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ