เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก มีคุณลักษณะเฉพาะและรูปแบบของเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก โครงสร้างและเปลือกเรือ ทำจากวัสดุอลูมิเนียมขึ้นรูปและเชื่อมประกอบ ขนาดความกว้าง 1.70 เมตร ความยาว 4.80 เมตร และความสูง 0.50 เมตร บุ้งกี๋สำหรับตักเก็บวัชพืช เป็นแบบตะแกรง ทำจากอลูมิเนียมผสม ขนาดความกว้าง 105 เซนติเมตร ความยาว 200 เซนติเมตร และความสูง 55 เซนติเมตร ล้อระหัด สำหรับขับเคลื่อนเรือให้เดินหน้า ถอยหลัง แบบเป็นอิสระต่อกัน เครื่องยนต์ต้นกำลังใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 13 แรงม้า สตาร์ทด้วยมอเตอร์ (มีแบตเตอรี่) และเชือกสตาร์ท ความเร็วในการเดินเรือ ไปได้ทั้งเดินหน้าและถอยหลังในน้ำ ประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราความสิ้นเปลืองนำมันเชื้อเพลิง(เบนชิน) ประมาณ 2 ลิตร/ชั่วโมง หรือประมาณ 60 บาท ต่อชั่วโมง ใช้พนักงานควบคุม บนเรือ จำนวน 1 คน ความสามารถในการเก็บวัชพืช (ผักตบชวา) ประมาณ 60 ตัน/วัน ขึ้นอยู่กับสภาพของวัชพืชและความชำนาญของพนักงานควบคุมเรือ
ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา (Para.-Log Boom) เป็นผลงานศึกษา วิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้วางกั้นคลองชลประทานดักผักตบชวา โดยออกแบบให้ใช้เนื้อยางธรรมชาติ 30 กก.ต่อทุ่น มีความยาว 2 เมตร สามารถลอยตัวอยู่ที่ร้อยละ 50 ของเส้นผ่านศูนย์กลาง แผนการดำเนินงานในปี พ.ศ.2562 ติดตั้งในเขต ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (พื้นทีสำนักงานชลประทานที่ 10 11และ12) และมีเป้าหมายขยายผลจัดทำทุ่นและติดตั้งทั่วประเทศ ในโครงการชลประทาน 200 โครงการๆ ละ 100 จุด เป็นจำนวน 340,000 ทุ่น หรือคิดเป็นน้ำหนักยางพาราทั้งสิ้น 10,200 ตัน
อีกหนึ่งนวัตกรรม เป็นรางวัดปริมาณน้ำชลประทานจากยางพารา (Para.- Cutthroat flume) ใช้สำหรับวัดปริมาณน้ำของการเกษตรกรรมในเขตจัดรูปที่ดิน ทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์มีขนาดความกว้างราง 0.20 เมตร ยาว 0.90 เมตร สูง 0.25 เมตร และมีแผนการผลิตจำนวน 1,000 ชุด คิดเป็นปริมาณยางที่ใช้ 10 ตัน
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการวิจัยส่งเสริมการใช้ยางพาราว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการสนองนโยบายรัฐบาล โดยการนำยางพารามาใช้ในกิจกรรมของงานชลประทาน ซึ่งมีการคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ อาทิ ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา สามารถนำไปใช้ได้ทั้งฝาย หรือพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งกีดขวางเข้าไปสร้างความเสียหายในแหล่งน้ำ, ทุ่นพลาสติก HDPE ปูด้วยแผ่นยางกันลื่น ใช้ในกรณีเกิดอุทกภัย ถนนตัดขาด เคลื่อนย้ายง่าย, เรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก และรางวัดปริมาณน้ำชลประทานจากยางพารา เป็นต้น
นอกจากนี้ได้ให้กรมชลประทาน และกรมวิชาการเกษตร ไปศึกษาผลิตภัณฑ์สารชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดผักตบชวา ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการวิจัย ตรวจสอบเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้
"เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์กับทั้งงานของชลประทานเอง ตลอดจนประชาชน เกษตรกร และชาวสวนยางทั้งระบบ คาดว่าหากโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบของสำนักงบประมาณจะช่วยทำให้ราคายางขยับสูงขึ้น ซึ่งปัญหาผักตบสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นเครื่องมือต่างๆ ที่กรมชลประทานได้นำเสนอและสาธิตให้ได้ชมในวันนี้นับเป็นความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือชาวสวนยาง ตามนโยบายในการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ" นายเฉลิมชัย กล่าว