สศค.มองศก.ปี 51มีสิทธิโตถึง 6%จากมาตรการกระตุ้นศก./ลงทุน-บริโภคฟื้นยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2008 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 51 อาจเติบโตได้ในระดับ 6% ซึ่งสูงกว่าเดิมที่ สศค.คาดการณ์ไว้ที่ 4.5-5.5% เนื่องจากรัฐบาลกำลังจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 1-2 สัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยสำคัญหลายด้านมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องชัดเจน ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท และสถานการณ์การเมืองในประเทศ 
นอกจากนี้ ปัจจัยบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจน การส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงที่กดดันเรื่องเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปี 51 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ย 4%
รวมทั้ง เศรษฐกิจโลกที่ชะลอต้ว โดยเฉพาะสหรัฐที่ปีนี้จะชะลอตัวค่อนข้างมาก จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สศค.จะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนมี.ค.ตามกำหนดปกติ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ราคาน้ำมัน ซึ่งเดิม สศค.ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบไว้ที่ 80-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากแนวโน้มยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะต้องดูว่าต้องปรับสมมติฐานหรือไม่
นอกจากนั้น ค่าเงินบาท และเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ซึ่งวานนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็เนื่องมาจากความใกงวลเงินเฟ้อทีเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน
สศค.ยอมรับว่าปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อและต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ส่วนในระยะยาว รัฐบาลคงต้องเร่งรณรงค์ประหยัดพลังงาน และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สศค.คาดว่า การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี หลังจากไตรมาส 1/51 มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 3 ส่วนหนึ่งมาจากการเมืองมีความชัดเจน มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ขณะเดียวกันรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจก็ขยายตัวดีขึ้น
ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทนั้นจากการประชุมภายในของหน่วยงานกระทรวงการคลังวานนี้ได้ปรับสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 51 มาที่ 32.00-33.00 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์
นายเอกนิติ กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่ผ่านมา มีทั้งผลดีและผลเสีย โดยด้านผลดี ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ และไทยสามารถนำเข้าน้ำมันได้ในราคาถูกลง ซึ่งเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากราคาน้ำม้นและราคาอาหารและสินค้าที่สูงขึ้น โดยใน ม.ค. 51 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาที่ 4.3%
ในทางตรงกันข้าม การแข็งค่าของเงินบาทก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในหลักการ ควรต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของค่าเงินมากกว่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ