นักวิเคราะห์ชี้ผลผลิตอุตฯญี่ปุ่นเดือนม.ค.ซบ ฉุดปท.เสี่ยงเผชิญช่วงขาลง

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 28, 2008 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ร่วงลงหนักกว่าคาดการณ์ในเดือนม.ค. 2551 เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลงมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวขณะที่อุปสงค์ในประเทศซบเซา
นักวิเคราะห์กำลังมองว่า ภาวะซบเซาในภาคธุรกิจที่เป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นที่ระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 2.0% ในเดือนม.ค.ปี 2551 จากระดับเดือนธ.ค.ปี 2550 นับเป็นสถิติปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ได้ปรับลดการผลิต นอกจากนี้ตัวเลขผลผลิตดังกล่าวยังร่วงหนักกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ของหนังสืมพิมพ์นิกเกอิคาดว่าจะลดลงเพียง 0.6%
นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯคาดว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวลดลง 2.9% ในเดือนก.พ.จากระดับในเดือนม.ค. แต่จะเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนมี.ค.จากระดับเดือนก.พ.
ทั้งนี้ จากตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ได้เป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดหุ้นโตเกียวปิดเช้าลบ 208.06 จุด หรือ 1.5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีลดลงมาอยู่ที่ 1.420% จากระดับ 1.470% เมื่อวานนี้
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงฯมองว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงทรงตัว หลังจากที่ได้ปรับลดประมาณการเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า "ญี่ปุ่นยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านอาทิ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคในญี่ปุ่น รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น"
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์จากภาคเอกชนมีมุมมองเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต่างออกไป โดยนายทัตสึชิ ชิกาโน นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์มิตซูบิชิ ยูเอฟเจกล่าวว่า "ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมที่อ่อนแอในเดือนม.ค. หลังจากที่พุ่งขึ้นสูงสุดเมื่อเดือนต.ค.แสดงให้เห็นถึงช่วงขาลงทางเศรษฐกิจและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางกระทรวงปรับลดคาดการณ์ "
ด้านนายทาโร ไซอิโตะ นักวิเคราะห์จาก NLI Research Institute กล่าวว่า "เศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งกำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงซบเซา และคาดว่าผลผลิตอุตสาหกรรมน่าจะยังคงอ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรกนี้"
"ปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดให้เศรษฐกิจเผชิญช่วงขาลงที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจจะยิ่งทำให้ญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะถดถอยมากยิ่งขึ้น" เขากล่าวทิ้งท้าย สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ